free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับแก้มาตรการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Xylella fastidiosa (Wells et al.) ในพืช

สหภาพยุโรปปรับแก้มาตรการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Xylella fastidiosa (Wells et al.) ในพืช

Featured Image by Lukas under Pexels license

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2024/2507 ว่าด้วย การปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2020/1201 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย Xylella fastidiosa (Wells et al.) และการปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2020/1770 เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อพืชที่ไม่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดรหัสตรวจสอบย้อนกลับสำหรับหนังสือเดินทางพืช ใน EU Official Journal L series โดยมีรายละเอียดดังนี้

        1. การปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2020/1201 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย Xylella fastidiosa (Wells et al.) ในพืช: ดังนี้

           1.1 มาตรา 1: ว่าด้วย คำจำกัดความที่เกี่ยวข้อง โดยให้เพิ่มคำจำกัดความของคำว่า « พาหะ (vector) » ให้หมายถึง แมลง Cicadomorpha ที่แพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุ (specified pest) ไปยังพืชหรือไปยังแมลงต้องสงสัยที่แพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุไปยังพืช

1.2 มาตรา 2: ว่าด้วย การสำรวจศัตรูพืชที่ระบุในอาณาเขตของประเทศสมาชิก โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ ต้องทำการสำรวจพืชอาศัย (host plant) และพืชอื่นๆ ในกรณีต้องสงสัยว่าติดเชื้อเพื่อตรวจจับศัตรูพืชที่ระบุ (specified pest) ในอาณาเขตของตนเป็นรายปี ซึ่งการสำรวจให้ครอบคลุมถึงพาหะ (vectors) ด้วย

ในประเทศสมาชิกฯ ที่สภาพทางนิเวศวิทยาไม่สามารถตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุได้ในสถานที่เปิด (open air) การสำรวจจึงควรกระทำเฉพาะในสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่เปิด ที่เป็นสถานที่เพาะปลูกพืชอาศัยและมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุในสหภาพยุโรป

การสำรวจต้องประกอบไปด้วยการเก็บตัวอย่างและการทดสอบพืชเพื่อการเพาะปลูก (plants for planting) และพาหะหากมี โดยให้พิจารณาจากคู่มือของ EFSA ด้านการสำรวจความเสี่ยงตามหลักสถิติของ Xylella fastidiosa นอกจากนี้ รูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างที่ปรับใช้จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับต่ำ ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่เพียงพอในประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่มีการยืนยันตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุในพาหะ ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการสำรวจในรัศมีอย่างน้อย 400 เมตร โดยรอบบริเวณที่พบพาหะที่ติดเชื้ออย่างไม่รอช้า รวมถึงทำการสุ่มตัวอย่างและทดสอบพืชอาศัยและพืชชนิดอื่นๆ ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ

           1.3 มาตรา 4: ว่าด้วย สถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมโดยกำหนดให้

                 – ในกรณีที่มีการยืนยันการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุในพืชอย่างเป็นทางการ ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดพื้นที่ควบคุม (demarcated area) อย่างทันท่วงที                                                                                                            

           1.4 มาตรา 5: ว่าด้วย การยกเว้นสำหรับสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุม โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้อง

                 – ดำเนินการสำรวจประจำปีเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ในพื้นที่ที่มีการยืนยันการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจสอบว่า พืชอื่น ๆ มีการติดเชื้อหรือไม่ และควรมีการปรับใช้มาตรการเพิ่มเติมใดๆ ซึ่งรูปแบบการสำรวจจะต้องเก็บตัวอย่างเพื่อทดสอบ โดยใช้การทดสอบทางโมเลกุลวิธีใดวิธีหนึ่งที่ระบุในภาคผนวก IV โดยรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างจะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90

           1.5 มาตรา 7: ว่าด้วย  การเคลื่อนย้ายพืชออกจากพื้นที่ติดเชื้อ  โดยกำหนดให้

                 – ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องนำสิ่งต่อไปนี้ออกจากพื้นที่ที่ติดเชื้อทันที ได้แก่ พืชที่ระบุ นอกเหนือจากที่อ้างถึงตามมาตรา 7(1)(c) และ (d) ซึ่งยังไม่ได้มีการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบโมเลกุลในทันที

                   – พืชที่ระบุข้างต้น หากผลตรวจพบว่า ไม่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ ก็ไม่ต้องทำการเคลื่อนย้ายพืชดังกล่าว

                   – การละเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น ประเทศสมาชิกฯ สามารถตัดสินใจไม่สุ่มตัวอย่างและทดสอบพืชที่ระบุที่ไม่พบการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุในพื้นที่ควบคุมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากผลการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบ และการสำรวจประจำปีตามมาตรา 10

                   – การละเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 7(1)(b) (c) และ (d) ประเทศสมาชิกฯ สามารถพิจารณาให้ พืชที่ระบุแต่ละชนิด ที่ถูกจัดให้เป็นพืชที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งการตัดโค่นอาจส่งผลกระทบที่ยอมรับไม่ได้ หรืออยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การคุ้มครองเฉพาะของประเทศสมาชิกฯ หรือของสหภาพยุโรป  โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งหมดดังต่อไปนี้  

              1.6 มาตรา 8: ว่าด้วย มาตรการต่อพาหะของศัตรูพืชที่ระบุ  โดยกำหนดให้

                   – ในพื้นที่ติดเชื้อ ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้วิธีบำบัดสุขอนามัยพืชที่เหมาะสมในพื้นที่ติดเชื้อกับประชากรพาหะของศัตรูพืชที่ระบุในทุกขั้นตอน โดยจะต้องทำการบำบัดก่อนและระหว่างการเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุในมาตรา 7(1) ในช่วงฤดูการบิน (flight season) ของพาหะ การบำบัดดังกล่าวจะต้องครอบคลุมการบำบัดทางเคมี ทางชีวภาพ หรือทางกลไกที่มีประสิทธิภาพต่อพาหะ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขสภาพท้องถิ่น

                   – ในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ติดเชื้อและพื้นที่กันชน ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับใช้แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรในการควบคุมประชากรพาหะของศัตรูพืชที่ระบุในทุกขั้นตอน โดยจะต้องปรับใช้แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของปี (โดยไม่คำนึงถึงการเคลื่อนย้ายพืชที่เกี่ยวข้อง)

                   – ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ติดเชื้อ ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับใช้มาตรการควบคุมประชากรพาหะของศัตรูพืชที่ระบุในทุกขั้นตอน โดยจะต้องปรับใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของปี (โดยไม่คำนึงถึงการเคลื่อนย้ายพืชที่เกี่ยวข้อง)

                   – แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรและมาตรการข้างต้น จะต้องครอบคลุมการบำบัดทางเคมี ทางชีวภาพ หรือทางกลไกที่มีประสิทธิภาพต่อพาหะ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขสภาพท้องถิ่น

        1.7 มาตรา 9: ว่าด้วย การกำจัดพืช  โดยกำหนดให้

                 – กรณีประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่า จะไม่กำจัดไม้ (wood) ที่ระบุในข้อ (2) มาตรา 9 (เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด) ประเทศสมาชิกฯ จะต้องตรวจสอบว่า ไม้นั้นๆ ไม่มีใบและกิ่งไม้ติดอยู่                                                                                                           

            1.8 มาตรา 14: ว่าด้วย มาตรการป้องกันพาหะของศัตรูพืชที่ระบุในพื้นที่ติดเชื้อที่ตามภาคผนวก III โดยกำหนดให้

                 – ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับใช้การบำบัดด้านสุขอนามัยพืชที่เหมาะสมในทุกขั้นตอนกับประชากรพาหะของศัตรูพืชที่ระบุของพืชที่ระบุในมาตรา 13(1) ก่อนการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในฤดูการบิน (flight season) ของพาหะ และโดยรอบพืชที่ระบุในมาตรา 13(2) การบำบัดดังกล่าวจะต้องครอบคลุมการบำบัดทางเคมี ทางชีวภาพ หรือทางกลไกที่มีประสิทธิภาพกับพาหะ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขสภาพท้องถิ่น

            1.9 มาตรา 15: ว่าด้วย การเฝ้าระวังประจำปีของพื้นที่ติดเชื้อตามภาคผนวก III โดยกำหนดในข้อ (2)(a) ดังนี้

                 – (2) ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจติดตามการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ โดยการสำรวจประจำปีในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลที่อ้างถึงในบัตรสำรวจศัตรูพืชของ EFSA เกี่ยวกับ Xylella fastidiosa ทั้งนี้ การตรวจติดตามดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างน้อยในพื้นที่ติดเชื้อตามภาคผนวก III ดังนี้

                  (a) ภายในพื้นที่อย่างน้อย 2 กิโลเมตร จากชายแดนของพื้นที่ติดเชื้อกับพื้นที่กันชน

           1.10 มาตรา 16: ว่าด้วย การกำจัดพืช โดยกำหนดให้

                  – กรณีหน่วยงานรับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่า จะไม่กำจัดไม้ (wood) ที่ระบุในข้อ (2) มาตรา 16 (ที่มีการติดเชื้อ) ประเทศสมาชิกฯ จะต้องตรวจสอบว่า ไม้นั้นๆ ไม่มีใบและกิ่งไม้ติดอยู่

           1.11 มาตรา 18: ว่าด้วย การรับรองการปลูกพืชที่ระบุในพื้นที่ติดเชื้อโดยกำหนดให้การปลูกพืชที่ระบุ (specified plants) ในพื้นที่ติดเชื้อสามารถได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องในกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

                 – (b) พืชที่ระบุได้รับการปลูกหรือต่อกิ่งในพื้นที่ติดเชื้อที่ระบุในภาคผนวก III แต่อยู่ภายนอกพื้นที่ที่ระบุในมาตรา 15(2)(a) และควรเป็นพันธุ์ที่ได้รับการประเมินว่า ต้านทานหรือทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุ หรือเป็นพืชพันธุ์เดียวกันที่ได้รับการทดสอบและพบว่า ปราศจากศัตรูพืชที่ระบุ โดยพิจารณาจากการสำรวจในเขตติดเชื้ออย่างน้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

                 – (c) พืชที่ระบุเป็นพืชชนิดเดียวกันกับพืชที่ได้รับการทดสอบและพบว่าปลอดจากศัตรูพืชที่ระบุ จากการสำรวจที่ดำเนินการอย่างน้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตามมาตรา 10 และปลูกใหม่ในพื้นที่ติดเชื้อเพื่อวัตถุประสงค์ในการกำจัด

                 – (d) พืชที่ระบุ นอกเหนือจากพืชที่ระบุในข้อ (b) สามารถปลูกได้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องปลูกนอกพื้นที่ที่ระบุในมาตรา 15(2)(a)

           1.12 มาตรา 19:  ว่าด้วย การเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ควบคุมและจากพื้นที่ติดเชื้อ เพื่อไปยังพื้นที่กันชนของพืชที่ระบุที่เพาะปลูกในสถานที่ผลิตที่ได้รับการรับรอง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยกำหนดในข้อ (a) ดังนี้

                   – (a) เป็นพืชที่ระบุที่ตลอดวงจรการเพาะปลูกอยู่ในสถานที่ที่ได้รับการรับรองตามมาตรา 24 หรืออยู่ในสถานที่ดังกล่าวอย่างน้อย 1 ปี

           1.13 มาตรา 23: ว่าด้วย การเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุภายในพื้นที่ติดเชื้อ ภายในพื้นที่กันชน และจากพื้นที่กันชนไปยังพื้นที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งของชีวิตมีการเพาะปลูกในพื้นที่ควบคุม โดยกำหนดในข้อ (a) ดังนี้

                   – (a) พืชที่ระบุที่เพาะปลูกในสถานที่ที่เป็นของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนตาม Regulation (EU) 2016/2031 มาตรา 65 และในกรณีที่เป็นพื้นที่ติดเชื้อ สถานที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรา 18 ว่าด้วย การรับรองการปลูกพืชที่ระบุในพื้นที่ติดเชื้อ

           1.14 มาตรา 24: ว่าด้วย การรับรองสถานที่เพาะปลูกโดยกำหนดในข้อ (b) (c) ดังนี้

                 หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักสามารถรับรองสถานที่เพาะปลูกตามมาตรา 19 และ 21 เมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้

                 – (b) เป็นสถานที่ที่มีการป้องกันทางกายภาพจากศัตรูพืชและพาหะที่ระบุ

                 – (c) มีการตรวจสอบอย่างน้อย 2 ครั้ง ในเวลาที่เหมาะสมของทุกปีโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก โดยการตรวจสอบครั้งสุดท้าย ต้องรวมการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบให้ใกล้เคียงกับเวลาของการเคลื่อนตัวของศัตรูพืชมากที่สุด

           1.15 มาตรา 25: ว่าด้วย การเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุซึ่งไม่เคยปลูกในพื้นที่ควบคุมภายในสหภาพยุโรป โดยกำหนดในข้อ (2) ดังนี้

                   – การยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 25(1) พืชเพื่อการเพาะปลูก ที่ไม่ใช่เมล็ดพืชของ Coffea L., Lavandula angustifolia Mill., Lavandula dentata L., Lavandula x intermedia Emeric ex Loisel., Lavandula latifolia Medik., Lavandula stoechas L., Nerium oleander L., Olea europaea L., Polygala myrtifolia L., Prunus dulcis (Mill.) D.A.Webb และ Salvia rosmarinus Spenn. สามารถเคลื่อนย้ายเป็นครั้งแรกภายในสหภาพยุโรปได้ ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้:

           1.16 มาตรา 27: ว่าด้วย หนังสือเดินทางพืชโดยกำหนดในข้อ (b) ดังนี้

                   – (b) ในกรณีที่เคลื่อนย้ายภายในพื้นที่กันชนหรือจากพื้นที่กันชนเข้าไปยังพื้นที่ติดเชื้อ ให้ระบุ คำว่า ‘Buffer Zone – XYLEFA’ ถัดจากรหัสการตรวจสอบย้อนกลับตามระบุ Regulation (EU) 2016/2031 ภาคผนวก VII Part A 1(e)

            1.17 มาตรา 28: ว่าด้วย การนำเข้าพืชอาศัย (host plants) ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่สาม ซึ่งไม่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุโดยกำหนดใหม่ ดังนี้

                    – (a) NPPO ของประเทศที่สามได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงคณะกรรมาธิการยุโรปว่า ศัตรูพืชที่ระบุนั้นไม่ปรากฎอยู่ในประเทศ จากการตรวจสอบ การสุ่มตัวอย่าง และการทดสอบระดับโมเลกุล โดยใช้วิธีการทดสอบตามภาคผนวก IV และตาม ISPM No 4 (Requirements for the establishments of pest free areas) โดยพิจารณาจากคู่มือของ EFSA เกี่ยวกับการสำรวจความเสี่ยงตามหลักสถิติของ Xylella fastidiosa รูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างที่ใช้จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับต่ำ ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่เพียงพอ

                      – (d) พืชเพื่อการเพาะปลูก (plants for planting) นอกเหนือจากเมล็ดพืชของ Coffea L., Lavandula angustifolia Mill., Lavandula dentata L., Lavandula x intermedia Emeric ex Loisel., Lavandula latifolia Medik., Lavandula stoechas L., Nerium oleander L., Olea europaea L., Polygala myrtifolia L., Prunus dulcis (Mill.) D.A.Webb และ Salvia rosmarinus Spenn.  ที่มีการเพาะปลูกในสถานที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบประจำปีโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบตามภาคผนวก IV ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ โดยรูปแบบการสุ่มตัวอย่างที่ใช้จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

             1.18 มาตรา 29: การนำเข้าพืชอาศัยที่มีแหล่งกำเนิดมาจากพื้นที่ปลอดศัตรูพืชของประเทศที่ติดเชื้อ  โดยกำหนดใหม่ ดังนี้                                                                                                    

                   – (a) พืชอาศัยที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศว่า ปลอดจากศัตรูพืชที่ระบุโดย NPPO ตาม ISPM No 4 และบนพื้นฐานของการสำรวจจากการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบอย่างเป็นทางการ โดยใช้การทดสอบตามระบุตามภาคผนวก IV โดยพิจารณาจากคู่มือของ EFSA เกี่ยวกับการสำรวจความเสี่ยงตามหลักสถิติของ Xylella fastidiosa รูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างที่ใช้จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับต่ำ ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่เพียงพอ

                   – (c) พืชอาศัยต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืชที่ระบุว่า “พืชอาศัยที่เกี่ยวข้องใช้เวลาทั้งชีวิตในพื้นที่ที่อ้างถึงในมาตรา 29(a) รวมทั้งระบุชื่อของพื้นที่นั้น ๆ”

                   – (e) พืชเพื่อการเพาะปลูก นอกเหนือจากเมล็ดพืชของ Coffea L., Lavandula angustifolia Mill., Lavandula dentata L., Lavandula x intermedia Emeric ex Loisel., Lavandula latifolia Medik., Lavandula stoechas L., Nerium oleander L., Olea europaea L., Polygala myrtifolia L., Prunus dulcis (Mill.) D.A.Webb และ Salvia rosmarinus Spenn.  ที่มีการเพาะปลูกในสถานที่ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบประจำปีโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบตามระบุในภาคผนวก IV ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับพืชนั้น ๆ ที่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ โดยรูปแบบการสุ่มตัวอย่างที่ใช้จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

            1.19 มาตรา 30:  ว่าด้วย การนำพืชอาศัยที่มีแหล่งกำเนิดจากสถานที่ผลิตที่ปลอดศัตรูพืชของประเทศที่ติดเชื้อเข้าไปยังสหภาพยุโรป โดยกำหนดใหม่ ดังนี้

                    – (1)(c)(ii)  ‘ชื่อหรือรหัสของสถานที่ที่ปลอดศัตรูพืช’

                   – (2)(d)(ii) ‘ชื่อหรือรหัสของสถานที่ที่ปลอดศัตรูพืช’

           1.20 มาตรา 32: ว่าด้วย การตรวจสอบการเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุภายในสหภาพยุโรปโดยปรับแก้ไข

                  – (2) การตรวจสอบดังกล่าวจะต้องกระทำอย่างน้อย ณ สถานที่ตั้ง รวมทั้ง ณ ถนน สนามบิน และท่าเรือ ที่มีการเคลื่อนย้ายของพืชที่ระบุออกจากพื้นที่ติดเชื้อไปยังพื้นที่กันชน หรือส่วนอื่นๆ ของสหภาพยุโรป

           1.21 มาตรา 35: ว่าด้วย การรายงานมาตรการของประเทศสมาชิกฯ ให้ยกเลิกข้อ (2) และ (3)

                  – (2) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ประเทศสมาชิกฯ จะต้องจัดส่งแผนการปรับใช้มาตรการสำหรับปีถัดไปตามมาตรา 2 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 – 18 และมาตรา 32 ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป และประเทศสมาชิกฯ อื่น ๆ โดยแผนดังกล่าวจะต้องกำหนดช่วงระยะเวลาของการปรับใช้แต่ละมาตรการ เวลาสิ้นสุด และงบประมาณที่จัดสรรสำหรับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ

                 – (3) ในกรณีที่มีการพัฒนาด้านความเสี่ยงของสุขอนามัยพืช ประเทศสมาชิกฯ จะต้องปรับเปลี่ยนมาตรการที่เกี่ยวข้องและปรับปรุงแผนตามมาตรา 35(2) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกฯ จะต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกฯ อื่น ๆ ทราบ อย่างทันท่วงที

           1.22 การปรับแก้ภาคผนวกที่เกี่ยวข้องของ Implementing Regulation (EU) 2020/1201:

                  – ภาคผนวก I รายชื่อพืชที่มีความอ่อนไหวต่อชนิดย่อยของศัตรูพืชที่ระบุอย่างน้อยหนึ่งชนิดหรือมากกว่า (พืชอาศัย) เพิ่ม 9 รายการ

                  – ภาคผนวก II รายชื่อพืชที่มีความอ่อนไหวต่อชนิดย่อยของศัตรูพืชที่ระบุ (พืชที่ระบุ) เพิ่ม 14 รายการ และถอน Salvia apiana Jeps.ออกจากรายชื่อ specified plants susceptible to Xylella fastidiosa subspecies multiplex                                                                                                            

                   – ภาคผนวก III พื้นที่ติดเชื้อตามมาตรา 4(2) ที่มีการปรับใช้มาตรการกักกันตามมาตรา 13 – 17 เพิ่มพื้นที่ติดเชื้อในประเทศโปรตุเกส

                   – ภาคผนวก IV Part B การทดสอบโมเลกุลเพื่อระบุ subspecies ของ Xylella fastidiosa โดย Real time PCR based on Dupas et al. 2019 และ Real time PCR based on Hodgetts et al. 2021

        2. การปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2020/1770 เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อพืชที่ไม่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดของรหัสตรวจสอบย้อนกลับสำหรับหนังสือเดินทางพืช: ดังนี้

            – ภาคผนวก: บัญชีรายชื่อพืชที่ไม่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดของรหัสตรวจสอบย้อนกลับสำหรับหนังสือเดินทางพืช เพิ่มรายชื่อพืช 5 รายการ

        3. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน 2567) อย่างไรก็ดี มาตรา 1 ข้อ 15, ข้อ 17(b), 18(c) และมาตรา 3 (ซึ่งเกี่ยวข้องกับพืชเพื่อการเพาะปลูก นอกเหนือจากเมล็ดพืชของ Coffea L., Lavandula angustifolia Mill., Lavandula dentata L., Lavandula x intermedia Emeric ex Loisel., Lavandula latifolia Medik., Lavandula stoechas L., Nerium oleander L., Olea europaea L., Polygala myrtifolia L., Prunus dulcis (Mill.) D.A.Webb และ Salvia rosmarinus Spenn.) ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:L_202402507