ด้วยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 กรรมาธิการเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งสหภาพยุโรป (DG AGRI) ได้จัดการประชุมวิสัยทัศน์ ภายใต้หัวข้อ « การกำหนดอนาคตเกษตรกรรมและภาคเกษตร-อาหารของสหภาพยุโรป (Vision Conference: Shaping the future of farming and the agri-food sector) » เกี่ยวข้องกับแนวทางการผลิตสินค้าเกษตร-อาหารของสหภาพยุโรปในอนาคต สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าว ดังนี้
- เป้าหมายของสหภาพยุโรป: นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในพิธีเปิดงานต่อการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการผลิตสินค้าเกษตร-อาหารในสหภาพยุโรป เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรในสหภาพยุโรป โดยภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (The reform for the common agricultural policy: CAP) สหภาพยุโรปเตรียมกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อนำไปสู่
การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว 3 ประการ ได้แก่ – การช่วยลดหย่อนภาระทางการดำเนินการทางราชการ/กฎระเบียบต่าง ๆ/ลดการตรวจสอบโดยภาครัฐ (bureaucratic burden) ภายใต้ Omnibus Simplification Package – การให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสของราคาสินค้าเกษตร-อาหาร – การสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันมายึดมั่นในอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจการมีรายได้ที่เป็นธรรม การมีสิทธิในที่ดิน และเข้าถึงเงินทุนในการทำเกษตรกรรม ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ในสหภาพยุโรป มีเพียงร้อยละ 12 จากเกษตรกรทั้งหมด - แนวทางการสนับสนุนเกษตรกรในสหภาพยุโรป: นาย Christophe Hansen กรรมาธิการยุโรปด้านการเกษตรและอาหาร (DG AGRI) กล่าวต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีเกษตรกร จำนวน 9 ล้านคน (ลดจำนวนลง 3 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรยังคงยึดอาชีพการทำเกษตรกรรมต่อไป รวมถึงเพื่อดึงดูดให้ประชากรรุ่นใหม่หันมาทำอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือให้เกษตรกรมีการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการเกษตร ที่ดินเกษตรกรรม ตลอดจนมีกำลังเงินเพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับปรุงระบบการทำฟาร์มให้ดีขึ้น โดยในปี 2567 European Investment Bank ได้มีการปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรในสหภาพยุโรปกว่า 3 พันล้านยูโร โดยในอนาคตการให้ความช่วยเหลือภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (CAP) จะมุ่งเน้นความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้แก่ฟาร์มขนาดเล็ก การกำหนดราคาสินค้าเกษตร-อาหารที่มีความยุติธรรมกับเกษตรกรในการต่อสู้กับสินค้าประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ซึ่งสินค้าเกษตร-อาหารที่นำเข้าต้องมีมาตรฐานและสุขอนามัยการผลิตที่เท่าเทียมกับผลผลิตในสหภาพยุโรป (reciprocity) การใช้เครื่องมือดิจิทัลทางการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อลดภาระการจัดการในฟาร์ม รวมถึงการอนุโลมให้มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในกรณีจำเป็นเพื่อให้เกษตรกรสามารถต่อสู้กับแมลงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน
3. การสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรป: ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีเกษตรกรอินทรีย์ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ร้อยละ 22 จากเกษตรกรอินทรีย์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกษตรกรหนุ่ม-สาวยังไม่มีพื้นที่เกษตรกรรมในครอบครองขนาดใหญ่ หากพบว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ชอบทำงานกับธรรมชาติ โดยผสมผสานการใช้เทคนิคเกษตรกรรมเข้ากับนวัตกรรมที่ทันสมัย อย่างไรก็ดี ยังคงพบว่า การพัฒนาฟาร์มอินทรีย์ยังต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐควบคู่กันไป (ยกตัวอย่างฟาร์มอินทรีย์ในเนเธอร์แลนด์ได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกพืชอินทรีย์จากเดิม 6 เฮกตาร์เป็น 45 เฮกตาร์ต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 4.3 ล้านยูโร)
4.จากผลการประชุมวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ พบว่าแนวทางนโยบายเกษตรร่วม (CAP) ของคณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบันมีแนวโน้มในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในสหภาพยุโรปเพื่อให้ยึดในอาชีพไม่ละทิ้งการทำเกษตรกรรม โดยมีการหยิบยกประเด็นการมีอธิปไตยด้านอาหาร (food sovereignty) ในสหภาพยุโรปว่าเป็นสิ่งสำคัญ สืบเนื่องจากภาวะสงคราม ภัยพิบัติธรรมชาติ และภาวะโลกร้อนที่ผ่านมาส่งผลให้สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าเกษตร-อาหารให้ได้ปริมาณมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร-อาหารจากประเทศที่สาม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเกษตรกรในสหภาพยุโรปในการปรับทิศทางการผลิตให้มีความยืดหยุ่นเพื่อนำไปสู่ระบบการผลิตที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาทิศทางการทำเกษตรกรรมดิจิตัลให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังการผลิตที่มากยิ่งขึ้น