free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปเตรียมขยายเวลาปรับใช้กฎระเบียบว่าด้วย สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)

สหภาพยุโรปเตรียมขยายเวลาปรับใช้กฎระเบียบว่าด้วย สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)

worms eyeview of green trees
Photo by Felix Mittermeier on Pexels.com

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนอขยายเวลาปรับใช้กฎระเบียบว่าด้วย สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR- Regulation (EU) 2023/1115) ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยเตรียมเสนอให้รัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปพิจารณาเห็นชอบก่อนนั้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. กฎระเบียบ EUDR มีผลบังคับใช้โดยตรงกับผู้ประกอบการในสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า ทั้งสินค้าภายในสหภาพยุโรปและสินค้านำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ครอบคลุมสินค้า ได้แก่ (1) วัว (2) โกโก้ (3) กาแฟ (4) ปาล์มน้ำมัน (5) ยางพารา (6) ถั่วเหลือง และ (7) ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าดังกล่าว อาทิ ช็อคโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการของสหภาพยุโรปที่จะมีการจำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกสินค้าข้างต้น มีภาระผูกพันในการกรอกข้อมูล Due Diligence Statement (DDS) ในฐานข้อมูลของสหภาพยุโรป (Information System-IS)
  2. การเสนอขยายระยะเวลาปรับใช้กฎหมายฯ ในมาตรา 38 (EUDR- Regulation (EU) 2023/1115) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการหลัก 2 กลุ่ม ดังนี้ –กลุ่มบริษัทใหญ่ (large companies): ขยายเวลาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2568 (จากเดิมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567) กลุ่มบริษัทขนาดเล็กและเล็กมาก (micro-and small enterprises) ขยายเวลาให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2569 (จากเดิมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568) ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในภาคผนวกของ Regulation (EU) No 995/2010 ซึ่งได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ (timber and timber products) สำหรับผู้ประกอบการที่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตั้งกิจการขึ้นโดยเป็นกิจการขนาดเล็กมาก (micro-undertakings) หรือกิจการขนาดเล็ก (small-undertakings) ตามมาตรา 3(1) หรือ (2) Directive 2013/34/EU รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ ดังนี้
https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:52024PC0452
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_24_5009

3. การจัดระดับความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking): DG ENV ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างจัดทำระดับความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking) โดยใช้เกณฑ์วิธีจัดระดับ (principles of the methodology)  แยกออกเป็น 3 ระดับ คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงมาตรฐาน และความเสี่ยงต่ำ จากเกณฑ์วิธีฯ ดังกล่าวพบว่า ขณะนี้ ประเทศส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่ที่ระดับความเสี่ยงต่ำ (low risk)  ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะขยายเวลาการประกาศผลการจัดระดับความเสี่ยงของประเทศหรือเขตพื้นที่ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน หรือความเสี่ยงสูง ผ่านกฎระเบียบอันดับรอง ตามมาตรา 29 (EUDR- Regulation (EU) 2023/1115) ไปอีก 6 เดือน กล่าวคือ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 (จากเดิมกำหนดภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567)

4. คู่มือ (Guidance Document): DG ENV ได้จัดทำคู่มือในการปรับใช้ EUDR วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในทางปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น คลอบคลุมข้อกำหนดทางกฎหมาย กรอบเวลาการปรับใช้ คำนิยามที่เกี่ยวข้อง  การสำแดงสถานะ due diligence ระบบข้อมูล (Information System) บทลงโทษ ข้อบังคับในการตรวจสอบย้อนกลับ ข้อกำหนดของสินค้าคอมโพสิต ขอบเขตสินค้าที่อยู่ภายใต้ EUDR  การใช้พื้นที่ป่าในเชิงเกษตรกรรม รวมถึงชุดคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับ EUDR    รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://green-business.ec.europa.eu/publications/guidance-eu-deforestation-regulation_en

5. กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ (Strategic Framework for International Cooperation Engagement): DG ENV ได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับ EUDR เพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และประเทศที่สามโดยกรอบดังกล่าวได้ระบุถึงปัจจัยการดำเนินการที่สำคัญ 8 ประการ ได้แก่ (1) การเจรจาหารือและร่วมมือกับประเทศที่สามอย่างต่อเนื่อง (2) การสนับสนุนให้ก่อเกิดการปฏิบัติ (support for actions) (3) การใช้ประโยชน์จากบทเรียนที่ได้เรียนรู้และการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี (4) การสนับสนุนการมีส่วนร่วม (5) แนวทางมุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชน (6) ความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูล (7) การทำงานประสานร่วมกับนโยบายริเริ่มอื่นๆ ของสหภาพยุโรป และ (8) การประสานงานกับพันธมิตรในการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งสหภาพยุโรปมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านให้มีความยุติธรรมและครอบคลุมไปสู่ห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรที่ปราศจากการทำลายป่า โดยจะเร่งการเจรจาและให้การสนับสนุนกลุ่มประเทศที่สามมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการหยุดยั้งทำลายป่าในระดับสากล

https://green-business.ec.europa.eu/publications/communication-commission-strategic-framework-international-cooperation-engagement-deforestation_en