free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปกำหนดเกณฑ์ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ สามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ด่านทราบล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางถึงจุดนำเข้า

สหภาพยุโรปกำหนดเกณฑ์ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ สามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ด่านทราบล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางถึงจุดนำเข้า

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ  Commission Implementing  Regulation  (EU)  2024/2104  ว่าด้วย การเสริม Regulation (EU) 2017/625 เกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ สามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ด่านทราบล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางถึงจุดนำเข้า ใน EU Official Journal L series โดยมีรายละเอียดดังนี้

      1) วัตถุประสงค์: เพื่อกำหนดเกณฑ์ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ สามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องทำการแจ้งให้ด่านทราบล่วงหน้าก่อนที่สินค้าจะเดินทางถึงจุดนำเข้า โดยครอบคลุมสินค้าที่ไม่อยู่ภายใต้มาตรา 47 และมาตรา 48 ของ Regulation (EU) 2017/625*

      2)  กรณีที่เกี่ยวข้อง: หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกฯ สามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ด่านทราบล่วงหน้า ใน 2 กรณี ดังนี้   

           2.1) กรณีเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า สินค้ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ สุขภาพพืช สวัสดิภาพสัตว์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งดัดแปลงทางพันธุกรรม ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช หรือมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม หรือกรณีที่พบว่า สินค้ามีประวัติไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรา 1(2) ของ Regulation (EU) 2017/625**

           2.2) สินค้าที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ณ ด่านตรวจสอบ (border control post) ตามมาตรา 44(3)(b)  Regulation (EU) 2017/625***

3) เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง:

          3.1) หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถขอให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ด่านตรวจสอบที่สินค้าจะเดินทางถึงเป็นแห่งแรกทราบเป็นการล่วงหน้า

          3.2) การแจ้ง (notification) ว่า สินค้าจะเดินทางถึงต้องประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานและสำแดงโดยผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสินค้านั้นๆ

          3.3) การแจ้งต้องกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ TRACES-IMSOC ของสหภาพยุโรป ในภาษาทางการของประเทศสมาชิกฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกฯ สามารถอนุโลมให้สามารถใช้ภาษาทางการอื่นๆ ของสหภาพยุโรป ที่ไม่ใช่ภาษาของประเทศตนได้

          3.4) ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย อาทิ ชื่อ-ที่อยู่ ประเทศ รหัส ISO ของผู้ส่งสินค้า ชื่อด่านนำเข้าแห่งแรกในสหภาพยุโรป ชื่อ-ที่อยู่ผู้รับ เอกสารที่แนบไปกับสินค้า วันที่-เวลาที่สินค้าจะเดินทางถึง อุณหภูมิระหว่างการขนส่ง  เลขที่คอนเทนเนอร์ รหัส CN น้ำหนัก ปริมาณของสินค้า ตามรายการที่ระบุในมาตรา 4 ข้อ 4  Regulation  (EU)  2024/2104 

      4) กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 25 กันยายน 2567) และให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:L_202402104

*มาตรา 47 บัญชีรายชื่อสัตว์และสินค้าที่ต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า (animals and goods subject to official controls at border control posts) และมาตรา 48  บัญชีรายชื่อสัตว์และสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า (animals and goods exempted from official controls at border control posts) ของ Regulation (EU) 2017/625 สรุปดังนี้:

มาตรา 47 บัญชีรายชื่อสัตว์และสินค้าที่ต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า มีดังนี้:

    – สัตว์

    – สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ สินค้าเพื่อการสืบพันธุ์ (germinal products) และสินค้าผลิตภัณฑ์พลอยได้จากสัตว์

    – พืช สินค้าพืช และสินค้าอื่นใดที่ระบุอยู่ในบัญชีตามมาตรา 72 (1) และมาตรา 74 (1) ของ Regulation (EU) 2016/2031

    – สินค้าที่มาจากประเทศที่สามบางประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดมาตรการให้มีการสุ่มตรวจเข้มเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลของความเสี่ยงหรือการระบาด 

    – สัตว์และสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการเร่งด่วนจากการปรับใช้กฎให้สอดคล้องกับมาตรา ๕๓ ของ Regulation (EC) No 178/2002, มาตรา ๒๔๙  ของ Regulation (EC) 2016/429, หรือ มาตรา 28(1), 30(1), 40(3), 41(3) 49(1) 53(3) และ 54(3) ของ Regulation (EC) 2016/2031

     – สัตว์และสินค้าที่เข้ามาในสหภาพยุโรปภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการที่ถูกกำหนดไว้โดยกฎตามมาตรา 126 หรือ 128 หรือตามมาตรา 1 (2) ของ Regulation (EU) 2017/625  ที่ระบุว่าต้องให้มีการตรวจสอบเมื่อสัตว์และสินค้าเดินทางมาถึง

มาตรา 48 บัญชีรายชื่อสัตว์และสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า มีดังนี้:

    – สินค้าที่ถูกส่งมาเป็นสินค้าตัวอย่างหรือสินค้าเพื่อนำมาแสดงนิทรรศการ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางจำหน่ายในตลาด

    – สัตว์และสินค้าเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์

    – สินค้าที่อยู่บนพาหนะเดินทางระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีการนำสินค้าลง และมีวัตถุประสงค์สำหรับเพื่อให้ลูกเรือหรือผู้โดยสารบริโภค

    – สินค้าที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางส่วนบุคคลและวัตถุประสงค์สำหรับเพื่อการบริโภคหรือใช้ส่วนตัว

    – ห่อพัสดุขนาดเล็กที่ส่งไปให้บุคคลธรรมดา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางจำหน่ายในตลาด

    – สัตว์เลี้ยงในบ้าน ตามมาตรา 4 ข้อ 11) ของ Regulation (EU) 2016/429

    – สินค้าที่ผ่านกระบวนการพิเศษเฉพาะและมีปริมาณไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้

    – สัตว์และสินค้าประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่มีความเสี่ยงเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้า

** มาตรา 1(2) ของ Regulation (EU) 2017/625 กำหนดการตรวจสอบควบคุม ดังต่อไปนี้  

    – อาหารและความปลอดภัยอาหาร ความสุจริต (integrity) และความปลอดภัยต่อสุขภาพ (wholesomeness) ตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรรูปและการกระจายสินค้า รวมถึงมีข้อกำหนดการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนการผลิต การใช้ภาชนะและวัสดุที่สัมผัสอาหาร การปล่อยให้เกิดการปนเปื้อน GMO ในสิ่งแวดล้อมจากการผลิตอาหารและอาหารสัตว์

    – อาหารสัตว์และความปลอดภัยอาหารสัตว์ในทุกขั้นตอนการผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้าอาหารสัตว์ การใช้อาหารสัตว์ รวมถึงข้อกำหนดการปฎิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อกำหนดด้านสุขภาพสัตว์ การป้องกันและลดความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์พลอยได้จากสัตว์และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ข้อกำหนดสวัสดิภาพสัตว์ มาตรการป้องกันแมลงศัตรูพืช

    – ข้อกำหนดในการวางจำหน่ายและใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชและการใช้สารปราบศัตรูพืชอย่างยั่งยืน ยกเว้นการใช้เครื่องมือในการใช้สารปราบศัตรูพืช

    – การผลิตและการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ การใช้และการติดฉลากสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิด (Protected Designation of Origin: PDO) การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protected Geographical Indication : PGI) และการคุ้มครองที่มีความชำนาญพิเศษแบบดั้งเดิม (Traditional Specialities Guaranteed: TSG)

***มาตรา 44(3)(b)  Regulation (EU) 2017/625 กำหนดการตรวจสอบควบคุมสินค้าที่ไม่อยู่ภายใต้ มาตรา 47 และมาตรา 48 ของ Regulation (EU) 2017/625 สามารถกระทำได้ที่เขตพื้นที่ศุลกากร อันรวมถึง ณ ที่ด่านตรวจสอบ (border control post)