free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปประกาศกฎระเบียบว่าด้วย การกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สหภาพยุโรปประกาศกฎระเบียบว่าด้วย การกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

unrecognizable factory employees in uniforms making cigars
Photo by Thibault Luycx on Pexels.com

          วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Directive (EU) 2024/1760 ว่าด้วย การกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (corporate sustainability due diligence) ใน EU Official Journal L series สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. วัตถุประสงค์ (subject matter) (มาตรา 1): เพื่อกำหนดพันธกรณีสำหรับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผลกระทบเชิงลบ (adverse impacts) ด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัท การดำเนินงานของบริษัทย่อย (subsidiaries) และการดำเนินงานโดยหุ้นส่วนทางธุรกิจ (business partners) ในห่วงโซ่กิจกรรมของบริษัทนั้น ๆ เพื่อกำหนดความรับผิดในกรณีละเมิดข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมข้างต้น   
  2. ขอบเขต (scope) (มาตรา 2):

     (1) บริษัทในสหภาพยุโรป (จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป) ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎระเบียบนี้ มีดังนี้

(a) บริษัทที่มีคนงานโดยเฉลี่ยมากกว่า 1,000 คน และมีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 450 ล้านยูโร (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท) ในปีการเงินล่าสุด (the last financial year)

(b) บริษัทที่ถึงแม้มิได้มีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 450 ล้านยูโร แต่เป็นบริษัทแม่ในลำดับสูงสุด (ultimate parent company of a group) ของบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ (a) ในปีการเงินล่าสุด

(c) บริษัทหรือบริษัทแม่ในลำดับสูงสุดของกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์หรือการให้สิทธิใช้งานในสหภาพยุโรปที่ได้รับค่าลิขสิทธิ์ (royalties) มูลค่ามากกว่า 22.5 ล้านยูโร (หรือประมาณ 878 ล้านบาท) และมีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 80 ล้านยูโร (หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท) ในปีการเงินล่าสุด

      (2) บริษัทของประเทศที่สาม (จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศที่สาม) ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎระเบียบนี้ มีดังนี้

 (a) บริษัทที่อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศที่สามที่มีรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปรวมแล้วมากกว่า 450 ล้านยูโร (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท) ในปีการเงินก่อนปีการเงินล่าสุด (the financial year preceding the last financial year)

 (b) บริษัทที่ถึงแม้มิได้มีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 450 ล้านยูโร แต่เป็นบริษัทแม่ในลำดับสูงสุด (ultimate parent company of a group) ของบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ (a) ในปีการเงินก่อนปีการเงินล่าสุด

 (c) บริษัทหรือบริษัทแม่ในลำดับสูงสุดของกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์หรือการให้สิทธิใช้งานในสหภาพยุโรปที่ได้รับค่าลิขสิทธิ์ (royalties) ที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป มูลค่ามากกว่า 22.5 ล้านยูโร (หรือประมาณ 878 ล้านบาท) และมีรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป มากกว่า 80 ล้านยูโร (หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท) ในปีการเงินก่อนปีการเงินล่าสุด

ทั้งนี้ กฎระเบียบกำหนดให้บริษัทที่จะเข้าข่ายตามขอบเขตนี้ เมื่อบริษัทเป็นไปตามเงื่อนไข
ที่กำหนดตามข้อ 2.1 หรือ 2.2
ในสองปีการเงินติดต่อกัน

3. คำนิยาม (definitions) (มาตรา 3):

    กำหนดคำนิยามที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงลบ
ที่มีต่อสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือ หุ้นส่วนทางธุรกิจ ห่วงโซ่กิจกรรม วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ผลกระทบเชิงลบที่ร้ายแรง รายได้สุทธิ และบริษัทแม่ เป็นต้น

4. ระดับของความสอดคล้อง (level of harmonisation) (มาตรา 4):

    ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องไม่ออกกฎหมายระดับประเทศใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากกฎระเบียบฉบับนี้ ในทางกลับกันสามารถออกกฎหมายระดับประเทศที่มีความเข้มงวดมากกว่า (more stringent) ที่ระบุในกฎระเบียบฉบับนี้ได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปกป้องสิทธิมนุษยชน การจ้างงาน สังคม สิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ ในระดับที่แตกต่าง

5. การกำกับดูแล/การตรวจสอบสถานะ (due diligence) (มาตรา 5):  

     ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทต่างๆ ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานะทางสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมตามพื้นฐานความเสี่ยงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 – 16 ของกฎระเบียบฉบับนี้ และต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ให้มีการเปิดเผยความลับทางการค้า

6. การสนับสนุนการกำกับดูแลในระดับกลุ่ม (due diligence support at a group level) (มาตรา 6):

     ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทแม่ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎระเบียบฉบับนี้ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในมาตรา 7 – 11 และมาตรา 22 ในนามของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัทแม่นั้น   

7.การบูรณาการการตรวจสอบสถานะเข้ากับนโยบายของบริษัทและระบบการจัดการความเสี่ยง (integrating due diligence into company policies and risk management systems) (มาตรา 7):

  ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทต่างๆ ได้ทำการรวมกระบวนการตรวจสอบสถานะ (due diligence)เข้ากับนโยบายและระบบการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ภายใต้หลักการตรวจสอบสถานะตามความเสี่ยง (risk-based due diligence) รวมถึงบริษัทต้องทำการปรับแก้ไขนโยบายการตรวจสอบสถานะให้เป็นปัจจุบันภายหลังการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยทุก 24 เดือน

8. การระบุและประเมินผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นและที่เป็นไปได้ (identifying and assessing actual and potential adverse impacts) (มาตรา 8):

    ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทปรับใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อระบุและประเมินผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นและที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของตนหรือของบริษัทย่อยของตน และที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่กิจกรรมของหุ้นส่วนทางธุรกิจ

9. การจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นและที่เป็นไปได้ (prioritisation of identified actual and potential adverse impacts) (มาตรา 9):

    ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ในกรณีที่ไม่สามารถป้องกัน บรรเทา ยุติ หรือลดผลกระทบเชิงลบได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน บริษัทจะต้องจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบเชิงลบนั้นๆ ตามมาตรา 8 เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 10 หรือมาตรา 11 โดยจะต้องจัดการกับผลกระทบที่มีความเสียหายร้ายแรงที่สุด (the most severe) อันดับแรก รองลงมาคือความเสียหายปานกลาง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

10. การป้องกันผลกระทบเชิงลบที่เป็นไปได้ (preventing potential adverse impacts) (มาตรา 10): 

     ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทต่างๆ มีการปรับใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันได้ หรือไม่สามารถทำได้ในทันที สามารถบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นหรือที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเพียงพอ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 ของกฎระเบียบฉบับนี้ ในกรณีที่บริษัทตัดสินใจยุติหรือระงับความสัมพันธ์ทางธุรกิจชั่วคราว บริษัทจะต้องดำเนินการเพื่อป้องกัน บรรเทา หรือยุติผลกระทบของการระงับนั้น โดยจะต้องแจ้งให้หุ้นส่วนธุรกิจทราบเป็นการล่วงหน้า และทบทวนการตัดสินใจอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงในกรณีที่บริษัทตัดสินใจที่จะไม่ระงับหรือยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริษัทจะต้องคอยควบคุมผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นและประเมินการตัดสินเป็นระยะๆ เพื่อปรับใช้มาตรการที่เหมาะสม

11. การยุติผลกระทบเชิงลบที่เป็นไปได้ (bringing actual adverse impacts to an end) (มาตรา 11):

       ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทต่างๆ ปรับใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อยุติผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น

       ในกรณีที่ไม่สามารถยุติผลกระทบเชิงลบได้ในทันที ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัท ได้ลดขอบเขตของผลกระทบนั้นให้เหลือน้อยที่สุด โดยบริษัทสามารถหารือ
ยื่นเสนอความช่วยเหลือทางการจัดการและทางการเงินแก่หุ้นส่วนทางธุรกิจที่ประสบปัญหา และเรียกขอหลักประกันตามสัญญา (contractual assurances)

12. การแก้ไขผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น (remediation of actual impacts) (มาตรา 12):   

             ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า ในกรณีที่บริษัทได้ก่อให้เกิดหรือร่วมกันก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ บริษัทจะต้องทำการแก้ไขผลกระทบเชิงลบดังกล่าว แต่ถ้าหากผลกระทบเชิงลบเกิดจากหุ้นส่วนทางธุรกิจเพียงฝ่ายเดียว บริษัทสามารถช่วยแก้ไขได้โดยความสมัครใจ หรือโน้มน้าวให้หุ้นส่วนทางธุรกิจทำการแก้ไขผลกระทบดังกล่าว

13. การมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (meaningful engagement with stakeholders)(มาตรา 13) :

  ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้มั่นในว่า บริษัทปรับใช้มาตรการที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิผล

14. กลไกการแจ้งเตือนและขั้นตอนการร้องเรียน (notification mechanism and complaints procedure) (มาตรา 14):

        ประเทศสมาชิกจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บริษัทอนุญาตให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ ในกรณีที่บุคคลหรือหน่วยงานนั้นมีข้อกังวลที่ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นหรือที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทย่อย หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจในห่วงโซ่กิจกรรมของบริษัท โดยการร้องเรียนกระทำผ่านกลไกที่เข้าถึงได้และสามารถกระทำในลักษณะไม่เปิดเผยตัวตนหรือเป็นความลับได้

15. การตรวจสอบ (monitoring) (มาตรา 15):

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บริษัททำการประเมินการดำเนินงานและมาตรการของตนเองเป็นระยะๆ ครอบคลุมบริษัทสาขาย่อย และที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่กิจกรรมของบริษัท รวมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อประเมินการดำเนินการและการติดตามประสิทธิผลของการระบุ การป้องกัน การบรรเทา การยุติ และลดขอบเขตของผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด การประเมินต้องอยู่บนพื้นฐานบ่งชี้เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และดำเนินการอย่างไม่ล่าช้าหากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้น โดยอย่างน้อยทุกๆ 12 เดือน และเมื่อใดก็ตามที่มีเหตุอันควรที่เชื่อได้ว่า มีความเสี่ยงใหม่เชิงลบเกิดขึ้น นโยบายการตรวจสอบสถานะ ผลกระทบเชิงลบที่ระบุ และมาตรการที่ปรับใช้ จะต้องได้รับการปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลการประเมินดังกล่าวและจากการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านั้น  

16. การสื่อสาร (communicating) (มาตรา 16):

       ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บริษัททำการรายงานผลการดำเนินงาน
ตามกรอบกฎระเบียบฉบับนี้ในรูปแถลงการณ์รายปี (annual statement) โดยทำการประกาศผ่านทางเว็บไซต์

        ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2570 คณะกรรมาธิการยุโรปจะออกกฎระเบียบลำดับรอง (delegated acts) เพื่อกำหนดเกณฑ์ข้อกำหนดของการรายงานรายปีข้างต้น โดยจะมีการระบุข้อมูลที่มีรายละเอียดเพียงพอเกี่ยวกับคำอธิบายของการตรวจสอบสถานะ ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจริงและที่อาจเกิดขึ้น และมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับผลกระทบเหล่านั้น

17. การเข้าถึงข้อมูล ณ จุดเข้าถึงเดียวของสหภาพยุโรป (accessibility of information on the European Single Access Point) (มาตรา 17):

       ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2572 เป็นต้นไป ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทจะต้องส่งคำแถลงการณ์ประจำปี ตามระบุในมาตรา 16(1) ไปให้ยังหน่วยงานผู้รวบรวม (collection body) ให้ทราบด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบ European Single Access Point (ESAP) ที่กำหนดโดย Regulation(EU) 2023/2859 ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะทำการแต่งตั้งหน่วยงานผู้รวบรวมในประเทศของตนอย่างช้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2571

18. ข้อสัญญาต้นแบบ (model contractual clauses) (มาตรา 18):

 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรา 10(2) (b) และมาตรา 11(3) (c) ของกฎระเบียบฉบับนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องหารือร่วมกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดแนวทาง (guidance) เกี่ยวกับข้อสัญญาต้นแบบโดยความสมัครใจ โดยจะเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบภายในวันที่ 26 มกราคม 2570

  19. คู่มือ (guidelines) (มาตรา 19):

      เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป บริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนด due diligence คณะกรรมาธิการยุโรปจะหารือร่วมกับประเทศสมาชิกฯ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานสหภาพยุโรปเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน (European Union Agency for Fundamental Rights) หน่วยงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency) หน่วยงานแรงงานแห่งสหภาพยุโรป (European Labour Authority) องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน due diligence เพื่อออกคู่มือที่ครอบคลุมแนวปฏิบัติทั่วไป แนวปฏิบัติเฉพาะภาคส่วน หรือแนวปฏิบัติเฉพาะผลกระทบเชิงลบ โดยจะเผยแพร่ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2570

  20. มาตรการติดตามช่วยเหลือ (accompanying measures) (มาตรา 20):  

               เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและให้การสนับสนุนแก่บริษัท หุ้นส่วนทางธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องจัดทำเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม หรือพอร์ทัล เป็นการเฉพาะหรือร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่ของกิจกรรมของบริษัท

21.  หน่วย single helpdesk (มาตรา 21):

 คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องจัดตั้ง single helpdesk เพื่อให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือ
แก่บริษัทในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎระเบียบฉบับนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกับ single helpdesk เพื่อช่วยเหลือในการให้ข้อมูลและคำแนะนำให้เข้ากับบริบทประเทศของตนและเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำนั้นต่อไป

22. การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (combating climate change) (มาตรา   22) :

   ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บริษัทที่อ้างถึงในมาตรา 2(1) (a) (b)

และ (c) และมาตรา 2(2) (a) (b) และ (c) จะนำแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปปฏิบัติใช้ ซึ่งแผนนี้มุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่ารูปแบบธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศในปี 2050 ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ (EU) 2021/1119 และให้พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซด้วย

23. ผู้แทนที่ได้รับอนุญาต (authorised representative) (มาตรา 23):  

      ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะกำหนดให้แต่ละบริษัทที่ประกอบกิจกรรมในประเทศสมาชิกของตน ต้องแต่งตั้งผู้แทนที่ได้รับอนุญาต (authorised representative) 1 ราย อาจเป็นคนธรรมดา (natural person) หรือนิติบุคคล (legal person) ที่มีถิ่นพำนักในประเทศสมาชิกที่ประกอบกิจกรรมนั้น โดยผู้แทนนี้จะเป็น
ผู้ประสานข้อมูลกับ supervisory authorities

24. หน่วยงานกำกับดูแล (supervisory authorities) (มาตรา 24)  : 

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศต้องแต่งตั้งหน่วยงานกำกับดูแล (supervisory authorities) 1 รายหรือหลายรายเพื่อทำการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎระเบียบฉบับนี้ โดยประเทศสมาชิกฯ จะต้องแจ้งรายชื่อหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศตนให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2569 เป็นอย่างช้า

25. อำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล (powers of supervisory authorities) (มาตรา 25):

          ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องสนับสนุนให้หน่วยงานกำกับดูแลมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายภายใต้กฎระเบียบฉบับนี้ รวมถึงอำนาจในการสั่งการให้บริษัทต้องให้ข้อมูลและสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง การปรับใช้แผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (transition plan) ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลมีอำนาจสั่งการให้บริษัทหยุดหรือยับยั้งการฝ่าฝืนกฎ แก้ไขข้อผิดพลาด กำหนดบทลงโทษ ออกมาตรการชั่วคราวในกรณีที่มีความเสี่ยงร้ายแรงและที่ไม่สามารถแก้ไขได้

26. ข้อกังวลที่พิสูจน์ได้ (substantiated concerns)(มาตรา 26):

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถมีสิทธิรายงานข้อกังวลที่พิสูจน์ได้ ในกรณีที่พบว่าบริษัทเข้าข่ายการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบฉบับนี้ ให้แก่หน่วยงานกำกับดูแลทราบได้ตามช่องทางที่สะดวก โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องปกป้องตัวตน (identity) ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่แจ้งข้อกังวลดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลร้ายต่อผู้ให้ข้อมูล

27. บทลงโทษ (penalties) (มาตรา 27):

      ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะเป็นผู้กำหนดบทลงโทษซึ่งมีทั้งในรูปแบบบทลงโทษทางการเงินหรือค่าปรับ (pecuniary penalties) และคำแถลงการณ์ต่อสาธารณะ โดยบทลงโทษจะต้องมีประสิทธิภาพ (effective) สมสัดส่วน (proportionate) และเป็นการห้ามปรามยับยั้ง (dissuasive) การกระทำผิด ทั้งนี้ ค่าปรับสูงสุดจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ทั่วโลกสุทธิ (net worldwide turnover) ของบริษัทในปีการเงินนั้น

28. เครือข่ายสหภาพยุโรปของหน่วยงานกำกับดูแล (European Network of supervisory authorities) (มาตรา 28):

      คณะกรรมาธิการยุโรปต้องจัดตั้งเครือข่ายสหภาพยุโรปของหน่วยงานกำกับดูแล (European Network of supervisory authorities) ที่ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อช่วยในการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ การสอบสวน การลงโทษ การกำกับดูแล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในเรื่องดังกล่าว

29. ความรับผิดทางแพ่งของบริษัทและสิทธิในการได้รับค่าชดเชยเต็มจำนวน (civil liability of companies and the right to full compensation) (มาตรา 29):

         ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า บริษัทต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือผลกระทบเชิงลบที่มีต่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งสามารถได้รับค่าชดเชยเต็มจำนวน อย่างไรก็ตาม หากความเสียหายนั้นเกิดจากหุ้นส่วนทางธุรกิจในห่วงโซ่กิจกรรมของตนเพียงฝ่ายเดียว บริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากบริษัท บริษัทลูก หุ้นส่วนทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมในห่วงโซ่กิจกรรมนั้น ในกรณีนี้บริษัทต้องเป็นผู้รับผิดชอบและทุกฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบทางแพ่งร่วมกัน 

30. การรายงานการละเมิดและการคุ้มครองผู้รายงาน (reporting of breaches and protection of reporting persons) ( มาตรา 30):

         ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่า Directive (EU) 2019/1937 ได้ถูกปรับใช้กับการรายงานการละเมิดข้อกำหนดกฎหมายภายในประเทศที่นำกฎระเบียบฉบับนี้ไปปรับใช้ รวมถึงการคุ้มครองบุคคลที่รายงานการละเมิดดังกล่าว

31. การสนับสนุนจากประชาชน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสัมปทานสาธารณะ (public support, public procurement and public concessions) (มาตรา 31):

      ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องรับรองให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายภายใน ประเทศที่มีผลมาจากกฎระเบียบฉบับนี้ หรือการปฏิบัติโดยสมัครใจ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาจาก Directives 2014/23/EU, 2014/24/EU และ 2014/25/EU ตามหลักเกณฑ์สัญญาสาธารณะและสัญญาสัมปทาน และตามเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและสัมปทานสาธารณะ

32. การปรับแก้ Directive (EU) 2019/1937 และ Regulation (EU) 2023/2859 (มาตรา 32 – มาตรา 33):

    กฎระเบียบฉบับนี้ถือเป็นการปรับแก้ Directive (EU) 2019/1937 และ Regulation (EU) 2023/2859 ว่าด้วย การกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

33. การปฏิบัติของคณะผู้แทน (exercise of the delegation) (มาตรา 34):

 33.1 อำนาจในการปรับใช้กฎระเบียบลำดับรองที่มอบหมายให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 นี้  

 33.2 อำนาจในการปรับใช้กฎระเบียบลำดับรองตามระบุในมาตรา 3(2) และมาตรา 16 จะถูกมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรป เป็นระยะเวลาไม่กำหนด นับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

 33.3 การมอบอำนาจตามระบุในมาตรา 3(2) และมาตรา 16 สามารถถูกเพิกถอนได้ทุกเมื่อโดยรัฐสภายุโรปหรือคณะมนตรียุโรป การตัดสินการเพิกถอนจะยุติการมอบอำนาจที่ระบุไว้ในการตัดสินนั้น โดยจะมีผลในวันถัดจากการประกาศคำตัดสินใน Official Journal of the European Union หรือในภายหลังจากนั้น ตามที่ระบุไว้ในประกาศ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกฎระเบียบลำดับรองที่บังคับใช้อยู่แล้ว

33.4 ก่อนการปรับใช้กฎระเบียบลำดับรอง คณะกรรมาธิการยุโรปจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละประเทศสมาชิก  ตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างสถาบันเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2559 ว่าด้วย Better Law-Making

33.5 ทันทีที่มีการปรับใช้กฎระเบียบลำดับรอง คณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องแจ้งให้รัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปทราบพร้อมๆ กัน

33.6 กฎระเบียบลำดับรองที่ปรับใช้ตามมาตรา 3(2) และมาตรา 16 จะมีผลบังคับใช้
ก็ต่อเมื่อไม่มีการคัดค้านจากรัฐสภายุโรปหรือคณะมนตรียุโรป ภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังจากแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบ ว่าจะไม่คัดค้าน ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปหรือสภามนตรียุโรปสามารถกำหนดให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีก 2 เดือน

 34. กระบวนการของคณะกรรมการ (committee procedure) (มาตรา 36):

  34.1 คณะกรรมาธิการยุโรปจะได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเป็นคณะกรรมการตามความหมายของ Regulation (EU) No 182/2011

  34.2 เมื่ออ้างถึงย่อหน้านี้ มาตรา 4 Regulation (EU) No 182/2011 จะถูกปรับใช้

 35. การทบทวนและการรายงาน (review and reporting)  (มาตรา 36):

  35.1 ภายหลังจากวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 และอย่างช้าสุดภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2569 คณะกรรมาธิการยุโรปจะนำเสนอรายงานต่อรัฐสภายุโรปหรือคณะมนตรียุโรป ในการกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติมเกี่ยวกับ due diligence ที่ยั่งยืนด้านการค้าและการลงทุน โดยอาจมีการนำเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย

 35.2 ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2573 และทุกๆ 3 ปี หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจะนำเสนอรายงานต่อรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป เกี่ยวกับผลการปรับใช้กฎระเบียบฉบับนี้ อันรวมถึงผลการบรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะผลการแก้ไขปัญหาผลกระทบเชิงลบ พร้อมข้อเสนอทางกฎหมายตามความเหมาะสม

 36. การนำกฎระเบียบฉบับนี้ไปปรับใช้ในกฎหมายภายในประเทศสมาชิก (transposition) (มาตรา 37):  

  ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปรับใช้และเผยแพร่กฎหมาย ข้อบังคับ และข้อกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบฉบับนี้ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2569 รวมถึงต้องแจ้งข้อบทกฎหมายและมาตรการนั้นๆ ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปทราบในทันที ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(ก) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2570 (2027) มีผลบังคับใช้กับ

– สำหรับบริษัทที่ระบุในข้อ 2(1) ข้อ (a) และ (b) (จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป)

– มีพนักงานเฉลี่ยมากกว่า 5,000 คน

– มีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 1,500 ล้านยูโรในปีการเงินล่าสุด ก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2570 (2027)

ยกเว้นบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ 16 ของกฎหมายนี้ที่จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปีการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2571 (2028)

(ข) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2571 (2028) มีผลบังคับใช้กับ

– สำหรับบริษัทที่ระบุในข้อ 2(1) ข้อ (a) และ (b) (จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป)

– มีพนักงานเฉลี่ยมากกว่า 3,000 คน

– มีรายได้สุทธิทั่วโลกมากกว่า 900 ล้านยูโรในปีการเงินล่าสุด ก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2571 (2028)

– ยกเว้นบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ 16 ของกฎหมายนี้ที่จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปีการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2572 (2029)

(ค) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2570 (2027)  มีผลบังคับใช้กับ

– สำหรับบริษัทที่ระบุในข้อ 2(2) ข้อ (a) และ (b) (จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศที่สาม)

– มีรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปมากกว่า 1,500 ล้านยูโรในปีการเงินก่อนปีการเงินล่าสุด ก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2570 (2027)

ยกเว้นบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ 16 ของกฎหมายนี้ที่จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปีการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2571 (2028)

(ง) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2571 (2028) มีผลบังคับใช้กับ

– สำหรับบริษัทที่ระบุในข้อ 2(2) ข้อ (a) และ (b) (จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศที่สาม)

– มีรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปมากกว่า 900 ล้านยูโรในปีการเงินก่อนปีการเงินล่าสุด ก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2571 (2028)

– ยกเว้นบริษัทที่เข้าข่ายตามข้อ 16 ของกฎหมายนี้ที่จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปีการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2572 (2029)

(จ) ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2572 (2029) บริษัททั้งหมดที่เข้าข่ายในข้อ 2(1) ข้อ (a)
และ (b) และข้อ 2(2) ข้อ (a) และ (b) รวมถึงบริษัทที่เข้าข่ายในข้อ 2(1) ข้อ (c) และข้อ 2(2) ข้อ (c) จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ ยกเว้นมาตรการที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อ 16 ซึ่งจะถูกบังคับใช้กับบริษัทเหล่านี้สำหรับปีการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2572 (2029)

 37. การมีผลบังคับใช้ (entry into force) (มาตรา 38):

  กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถปรับใช้และเผยแพร่กฎหมาย ข้อบังคับ และข้อกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบฉบับนี้ได้ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2569  

38. ภาคผนวก (annex):

                  ภาคผนวก ส่วนที่ I ว่าด้วย สิทธิและข้อห้ามที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Rights and prohibitions included in International Human Rights Instruments)

                   ภาคผนวก ส่วนที่ II ว่าด้วย ข้อห้ามและข้อบังคับที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิ่งแวดล้อม (Prohibitions and Obligations included in Environmental Instruments)                     

ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=OJ:L_202401760

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรกฎาคม 2567