ด้วย สื่อออนไลน์ IHS Markit ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ภาคเกษตรอินทรีย์โลกประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรายงานดังกล่าวจัดทำโดยสถาบันวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ (Research Institute on Organics Agriculture: FiBL) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- ในปี 2563 ภาคเกษตรอินทรีย์มีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F) คือการเพิ่มการทำเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ 1 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของสหภาพยุโรป ภายในปี 2573
- ตลาดอินทรีย์ของสหภาพยุโรปเติบโตขึ้น 15.1% หรือประมาณมูลค่า 44.8 พันล้านยูโร ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าอินทรีย์มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
- ในปี 2564 เยอรมนีมียอดจำหน่ายอาหารอินทรีย์สูงที่สุดในสหภาพยุโรปโดยเติบโตขึ้น 6% คิดเป็นมูลค่า 15 พันล้านยูโร รองลงมาคือฝรั่งเศส 12.7 พันล้านยูโร และอิตาลี 3.9 พันล้านยูโร ทั้งนี้ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปยังคงมีการขยายเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านเฮกตาร์ แม้ว่าอัตราการเพิ่มมีแนวโน้มลดลงกว่าในปี 2563 และ 2562 ทั้งนี้ IHS Markit ระบุว่า เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F) ในการมีพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์เท่ากับ 25% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในสหภาพยุโรปให้ได้ภายในปี 2573 นั้น สหภาพยุโรปจะต้องมีอัตราการขยายตัวการทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
- เมื่อเดือนมีนาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศการจัดทำแผนปฏิบัติการอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบด้วย 23 มาตรการ เพื่อส่งเสริมภาคอาหารอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายบางกลุ่มในสหภาพยุโรปยังคงตั้งข้อสังเกตว่าแผนดังกล่าวอาจไม่สามารถส่งเสริมการบริโภคอาหารอินทรีย์ได้เพียงพอ และอาจทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้
- IFOAM Organics Europe หรือสมาคมเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์สินค้าอินทรีย์ ดังนี้
- แนวทางการผลิตและการบริโภคสินค้าอินทรีย์จำเป็นต้องได้รับสนับสนุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายใต้แผนยุทธศาสตร์นโยบายเกษตรร่วมฉบับต่อไป (CAP) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F)
- ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปควรพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อสนับสนุนการบริโภคอาหารอินทรีย์ในประเทศ ผ่านนโยบายส่งเสริมที่เข้มงวดและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยได้หยิบยกกรณีของฝรั่งเศสที่ต้องการตัดเงินอุดหนุนภาคเกษตรอินทรีย์ในแผนยุทธศาสตร์ ไม่ส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคเกษตรอินทรีย์ในปีที่ผ่านมา
- การปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูล (data collection) ในระบบเกษตรอินทรีย์จะมีความสำคัญต่อการเพิ่มการผลิตและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในสหภาพยุโรป และช่วยให้บรรลุเป้าหมาย F2F ได้ โดยปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการออกกฎระเบียบด้านสถิติด้านปัจจัยการผลิตและผลผลิตทางการเกษตร (Statistics on Agricultural Inputs and Outputs :SAIO) เพื่อผลักดันให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีความชัดเจนมากขึ้น และอาจสามารถกระตุ้นให้นักลงทุนรายใหม่เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม IFOAM กำลังพยายามเรียกร้องให้คณะมนตรีด้านการเกษตรแห่งสหภาพยุโรปยกเลิกการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว เพราะอาจก่อให้เกิดการขัดขวางการรวบรวมข้อมูลเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบ
- ยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F) กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 25% หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณคาร์บอนจากการทำเกษตรกรรม เพื่อให้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของนโยบาย European Green Deal ที่มีสภาพภูมิอากาศที่เป็นกลางภายในปี 2573 รวมถึงมีความพยายามสนับสนุนให้ผู้บริโภคสนใจมาบริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยตระหนักถึงประเด็นด้านสุขภาพ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ ความยั่งยืน และเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม
- ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์มายังสหภาพยุโรปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าพืช ผัก ผลไม้สดและแปรรูปอินทรีย์ ถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ (Control Body) ที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินการตรวจสอบรับรองในไทยจากสหภาพยุโรป อาทิ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ของไทย Ecocert ของฝรั่งเศส และ CCPB ของอิตาลี และล่าสุดมีหน่วยงานตรวจรับรองภาคเอกชน (Control Body) 3 ราย ที่ได้รับการอนุญาตให้ตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์จากไทย ได้แก่ (1) Bio.inspecta AG (2) NASAA Certified Organic Pty Ltd และ (3) SRS Certification GmbH