free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeTrending Newsเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ทางเลือกใหม่ในการต่อต้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสหภาพยุโรป

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ทางเลือกใหม่ในการต่อต้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสหภาพยุโรป

grind meat in glass bowl
Photo by Angele J on Pexels.com

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 สถาบัน Good Food Institute (GFI) แห่งสหภาพยุโรปเสนอให้มีการสนับสนุนเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในสหภาพยุโรป สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) คือทางเลือกใหม่: สถาบัน Good Food Institute (GFI) แห่งสหภาพยุโรประบุว่า การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับความปลอดภัยอาหาร ดังนั้น รัฐบาลยุโรปควรที่จะลงทุนในการหาโปรตีนทางเลือกที่ปลอดจากยาปฏิชีวนะ (antibiotic-free alternative proteins) อาทิ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตให้ปลอดจากโรคติดต่อจากสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพได้
  • การดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์: จากข้อมูลสถิติพบว่าในปี 2562 มีประชากรเสียชีวิตจากการดื้อยาต้านจุลชีพ (antimicrobial resistance) ทั่วโลกถึง 1.27 ล้านคน โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร โดยพบว่ายาปฏิชีวนะร้อยละ 70 ถูกนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เนื่องจากเป็นตัวช่วยราคาถูกที่ทำให้สัตว์มีสุขอนามัยที่ดี เช่นเดียวกับการใช้ยาเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์

แม้ว่าสหภาพยุโรปจะระงับการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์เลี้ยงในฟาร์มมาตั้งแต่ปี 2565* แต่ยังคงมีการตรวจพบยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ที่ชาวยุโรปบริโภค เนื่องจากยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการล้มป่วยของสัตว์อยู่ทั่วโลก

  • ที่มาของปัญหาการใช้ยา: แม้ว่าสหภาพยุโรปจะห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะในลักษณะเป็นประจำ (routine) แต่ฟาร์มที่มีการเลี้ยงสัตว์เป็นอุตสาหกรรรมขนาดใหญ่มักจะประสบปัญหาด้านสุขภาพสัตว์ เพราะสัตว์ถูกเลี้ยงในลักษณะหนาแน่น แออัด จึงยังคงมีการใช้ยาแบบ routine ซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคสามารถพัฒนาความต้านทานต่อยาต้านจุลชีพทุกครั้งที่ได้รับยา เมื่อได้รับยาในระยะยาวหรือซ้ำๆ จะก่อให้เกิดแบคทีเรียที่ดื้อยา เมื่อสัตว์มีความต้านทานสูงเกิดขึ้น ก็สามารถโอนถ่ายความต้านทานดังกล่าวเข้าสู่มนุษย์ผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์ ผ่านสิ่งแวดล้อม หรือผ่านการสัมผัสของเกษตรกรหรือคนงานในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์นั้นๆ
  • ในขณะนี้ยังไม่มีการวางจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน CE Delft ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์คาดการณ์ว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะมีราคาอยู่ที่ 5.73 ยูโร/กิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าราคาเนื้อสัตว์ปกติ

* กฎระเบียบว่าด้วยยาสัตว์ Regulation (EU) 2019/6 on veterinary medicinal products and repealing Directive 2001/82/EC กำหนดกรอบกฎหมายสำหรับการวางจำหน่าย การผลิต การนำเข้า การส่งออก การเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้ยา (pharmacovigilance) การควบคุม และการใช้ยาสัตว์ (veterinary medicinal products) ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2565  โดยได้กำหนดการใช้ยาต้านจุลชีพ (antimicrobial medicinal products) (มาตรา 107) ดังนี้

1) ยาต้านจุลชีพต้องไม่ถูกใช้เป็นประจำ หรือใช้เพื่อชดเชยสุขลักษณะที่ไม่ดี สัตวบาลไม่เพียงพอ ขาดการดูแล หรือเพื่อชดเชยการจัดการฟาร์มที่ไม่ดี

2) ยาต้านจุลชีพต้องไม่ใช้ในสัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพื่อเพิ่มผลผลิต

3) ยาต้านจุลชีพต้องไม่ใช้สำหรับการป้องกันโรค (prophylaxis)

4) ยาต้านจุลชีพจะใช้สำหรับการควบคุมโรค (metaphylaxis) ในกรณีที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดการติดเชื้อหรือโรคในฝูงสัตว์ในระดับที่สูง และไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเท่านั้น