เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 สปษ. สหภาพยุโรป เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 5/2565 โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นประธานการประชุม
ผอ. สปษ. สหภาพยุโรป ได้รายงานสถานการณ์ยางพารา และมูลค่า/ปริมาณการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไทยไป EU พร้อมรายงานความคืบหน้าร่างกฎหมาย Deforestation Free Product ซึ่งมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางและผลิตภัณฑ์ โดยกฎหมาย Deforestation Free Product ของสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น ได้มีข้อกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า หรือการทำให้ป่าเสื่อมสภาพ จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากสินค้าเหล่านี้ โดยสาระสำคัญตามมาตรา 3 (Prohibition) สรุปได้ดังนี้ คือ สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (Deforestation Free) การผลิตเป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต มีการจัดทำ Due Diligence (ข้อมูลและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามมาตรา 3) มีระบบการควบคุมคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และสถานที่ผลิตได้ โดยกลไกการตรวจสอบ ดังนี้ 1) จะมีการจัดกลุ่มประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking System) และแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน 2) ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกระบวนการทำหรือการตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และมีการทบทวนทุก 2 ปี