free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationปัญหาการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป

ปัญหาการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป

ด้วย สื่อออนไลน์ IHS Markit ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานสรุป กรณีปัญหาการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ประชุมรัฐสภายุโรป นำโดยนาง Marie Toussaint สมาชิกรัฐสภาชาวฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้นาง Stella Kyriakides กรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (DG SANTE) เร่งพิจารณาทบทวนกฎหมายและกำหนดบทลงโทษ กรณีปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในสินค้าอาหาร เพื่อให้เกิดความรัดกุมด้านความปลอดภัยอาหารในสหภาพยุโรป โดยในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบ ดังนี้
    • การตรวจพบเชื้อ  Salmonella  Typhimurium  ในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตไข่  Kinder ของโรงงานผู้ผลิตช็อกโกแลต ยี่ห้อ Ferrero ที่เมือง Arlon เบลเยียม ส่งผลให้มีเด็กล้มป่วย 150 ราย ในประเทศสมาชิก 10 ประเทศ อาทิ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร ซึ่งหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของเบลเยียม (Belgian Federal Agency for the Safety of the Food Chain : AFSCA) ได้ประกาศถอนโรงงานผู้ผลิตช็อกโกแลตแล้วในทันที โดยสาเหตุคาดว่ามาจาก แทงค์บรรจุบัตเตอร์มิลค์ที่ใช้ในการผลิตมีการปนเปื้อนของเชื้อ Salmonella Typhimurium 
    • การตรวจพบเชื้อ  Escherichia  coli  ในพิซช่าแช่แข็ง  Fraich’Up  ยี่ห้อ  Buitoni ของโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Caudry ประเทศฝรั่งเศส ในเครือของบริษัท Nestlé ส่งผลให้มีผู้บริโภคเสียชีวิต 2 ราย และล้มป่วย 70 ราย โดยมีการส่งออกพิซซ่าดังกล่าวไปจำหน่ายยัง 23 ประเทศ (15 ประเทศอยู่ทางแถบทวีปแอฟริกา)   
    • การตรวจพบเชื้อ  Listeria  ในเนยแข็งยี่ห้อ  Normanville  และ Graindorge ของบริษัท Lactalis ฝรั่งเศส
    • การตรวจพบเศษพลาสติกของปากกาในนักเก็ตไก่  (chicken  nuggets)  ของบริษัท Secrets Volaille ฝรั่งเศส
  2. จากปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและสิ่งแปลกปลอมในอาหารข้างต้น คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดให้ถอนสินค้าของผู้ผลิตรายนั้นๆ ออกจากชั้นวางจำหน่ายในทันที รวมถึงให้มีการตรวจสอบโรงงานอื่นๆ ในเครือของผู้ผลิตรายที่มีปัญหาร่วมด้วย