ด้วย สื่อออนไลน์ IHS Markit ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่บทความ เรื่อง รัฐบาลเบลเยียมเตรียมออกข้อกำหนดห้ามใช้คำเรียกเบอร์เกอร์เวจจี้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- รัฐบาลเบลเยียมอยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชื่อผลิตภัณฑ์มังสวิรัติและวีแกน เพื่อห้าม/กำหนดแนวทางการใช้ชื่ออ้างอิงถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในอาหารที่ทำจากพืช (plant-based foods) โดยล่าสุดรัฐบาลเบลเยียมเตรียมออกข้อกำหนด (guidelines) ห้ามเรียก เนื้อเทียมที่ทำจากพืช ว่าเป็นอาหารเวจจี้หรือวีแกน ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เบอร์เกอร์เวจจี้ (veggie burger) เนื้อชุบแป้งทอดชนิทเซิลวีแกน (vegan schnitzel) หรือไส้กรอกมังสวิรัติ (vegetarian sausage) เป็นต้น โดยบังคับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืชที่วางจำหน่ายในเบลเยียม
- สมาคมมังสวิรัติและวีแกนแห่งเบลเยียม (EVA) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยโต้แย้งว่าการใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า เนื้อบดมังสวิรัติ (vegetarian minced meat) หรือ ชิ้นไก่เวจจี้ (veggie chicken pieces) ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ถึงวิธีการเตรียมหรือการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้สร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคโดย EVA เห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อการพัฒนาและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืชทั้งในระดับสหภาพยุโรปและในเบลเยียม และไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F) ที่ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกอาหารได้อย่างยั่งยืน (make sustainable food choices) รวมถึงแนวทางดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความระส่ำระสายในตลาดอาหารที่ทำจากพืชในตลาดยุโรป EVA จึงเสนอให้รัฐบาลเบลเยียมควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปบริโภคอาหารจากพืชมากยิ่งขึ้น
- การที่ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารจากพืช (plant-based foods) มากยิ่งขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน การบริโภคโปรตีนจากสัตว์ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และสุขภาพของประชาชน ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชที่หลากหลายและเข้าถึงได้ จะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
- บริษัท Greenway เครือข่ายร้านอาหารและร้านค้าปลีกผู้บุกเบิกอาหารมังสวิรัติรายใหญ่ของเบลเยียม กล่าวว่า การนำเสนอทางเลือกอาหารจากพืชให้แก่ผู้บริโภค จะช่วยจำกัดผลกระทบจากระบบอาหารที่มีต่อสภาพอากาศ โดยต้องสร้างการรับรู้ (recognisability) ให้แก่กลุ่มผู้บริโภคที่บริโภคทั้งมังสวิรัติและเนื้อสัตว์ (flexitarians) โดยชื่อบนฉลากต้องชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นที่รู้จัก ซึ่งการห้ามและการออกกฎระเบียบบังคับใช้ชื่อบนฉลากที่เข้มงวดเกินไปอาจส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาทางการแข่งขันได้ ดังนั้น รัฐบาลเบลเยียมจึงควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารที่ทำจากพืชที่กำลังเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปี
การรณรงค์การบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเป็นหนึ่งในแนวทางยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F) ของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อลดปริมาณคาร์บอนจากการเลี้ยงสัตว์ในภาคเกษตรของสหภาพยุโรปให้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของนโยบาย European Green Deal ที่มีสภาพภูมิอากาศที่เป็นกลางภายในปี 2593 โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช (plant-based foods) ในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 4,400 ล้านยูโร หรือประมาณ 162,800 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านยูโร หรือ 277,500 ล้านบาท ในปี 2568 ซึ่งส่งผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงประเด็นด้านสุขภาพ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์ ความยั่งยืน และเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม