free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulation์NGTรัฐสภายุโรปลงมติเกี่ยวกับการใช้เทคนิคดัดแปลงพืชทางพันธุศาสตร์ใหม่ในสหภาพยุโรป  

รัฐสภายุโรปลงมติเกี่ยวกับการใช้เทคนิคดัดแปลงพืชทางพันธุศาสตร์ใหม่ในสหภาพยุโรป  

Featured Image by Steven Weeks on Unsplash

1. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอร่างข้อเสนอ (proposal) กฎระเบียบของสหภาพยุโรป ว่าด้วยพืชที่มีการใช้เทคนิคดัดแปลงพืชทางพันธุศาสตร์ใหม่ (new genomic technique) ภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm-to-Fork และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่ออนุญาตให้พืชที่มีการใช้เทคนิคดัดแปลงทางพันธุศาสตร์ใหม่ไม่ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับพืช GM ซึ่งมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน โดยพืชกลุ่ม new genomic technique เป็นพืชที่ได้รับการดัดแปลงยีน (gene-edited organisms) เพื่อให้เป็นพืชที่ความทนต่อความแล้งและศัตรูพืช ให้ปริมาณผลผลิตที่ดีกว่า และใช้ปุ๋ยในปริมาณต่ำ โดยสหภาพยุโรปได้แยกพืช new genomic technique ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

– พืช new genomic technique ประเภทที่ 1 (NGT 1): จะได้รับการพิจารณาว่า “เป็นเหมือนพืชปกติ (conventional plant)” สามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติหรือจากการผสมพันธุ์พืช โดยจะได้รับการละเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงเหมือนพืช GM อย่างไรก็ดี บังคับให้มีการติดฉลากพืช NGT 1 และกำหนดให้มีการประกาศบัญชีรายชื่อพืช NGT 1 ที่ได้รับอนุญาตบนเว็บไซต์อย่างเป็นสาธารณะ

– พืช new genomic technique ประเภทที่ 2 (NGT 2): จะได้รับการพิจารณาให้ “เป็นเหมือนพืช GM” ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยงและคำนึงถึงหลักระวังไว้ก่อน (precautionary principle)  แต่จะอนุโลมให้กระบวนการประเมินความเสี่ยงมีความซับซ้อนน้อยกว่าพืช GM เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลดีต่อระบบสินค้าเกษตร-อาหารที่ยั่งยืน และบังคับให้มีการติดฉลากเช่นเดียวกับพืช NGT 1 ซึ่งพืชกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นพืชกลุ่มที่มีความต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืช (herbicide tolerant plants)

อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังคงไม่อนุญาตให้ใช้พืช NGT ในการผลิตอินทรีย์ เนื่องจากข้อมูลความเป็นพืชที่คล้ายคลึงกับพืชอินทรีย์ยังไม่ชัดเจน (compatibility) รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินผลเพื่อหยั่งท่าทีของผู้บริโภคและผู้ผลิตในช่วง 7 ปี หลังจากที่กฎระเบียบจะมีผลบังคับใช้

2. การลงมติของสภายุโรป: เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 มีการลงมติในร่างข้อเสนอข้างต้น โดยมีสมาชิกรัฐสภาฯ เห็นด้วย 307 เสียง ไม่เห็นด้วย 263 เสียง และงดออกเสียง 41 เสียง โดยพบว่า   พรรคการเมืองฝ่ายขวา  กลุ่มนักกฎหมาย  และภาคอุตสาหกรรมยุโรปให้การสนับสนุนร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าว โดยมองว่า เป็นก้าวย่างแห่งประวัติศาสตร์ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะช่วยให้ก่อเกิดการเกษตรที่ยั่งยืน  ในขณะที่พรรคก้าวหน้า พรรคปกป้องสิ่งแวดล้อม หน่วยงาน NGOs และประชาสังคมค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับพืชกลุ่ม NGT  

3. การจดสิทธิบัตร (patent) พืช new genomic technique: ประเด็นหลักที่เป็นข้อถกเถียงในสภายุโรป คือการยอมให้มีการจดสิทธิบัตร (patent) พืช new genomic technique (ในขณะที่พืชปกติในสหภาพยุโรปไม่มีการจดสิทธิบัตร) ซึ่งจะส่งผลให้มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ใน สหภาพยุโรปที่มีอยู่ราว 6 บริษัท (อาทิบริษัท Bayer บริษัท Corteva บริษัท Syngenta บริษัท BASF บริษัท Limagrain และบริษัท KWS) ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากพืช NGT ในขณะที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงพืชดังกล่าวได้ ดังนั้น สภายุโรปจึงต้องการห้ามไม่ให้มีการจดสิทธิบัตรพืช NGT ทุกชนิด รวมถึงส่วนขยายพันธุ์พืช (plant material) และข้อมูลทางพันธุศาสตร์เกี่ยวข้อง ดังนั้น สภายุโรปจึงได้ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปนำส่งรายงานผลกระทบของการจดสิทธิบัตร (patent) พืช new genomic technique ต่อร่างข้อเสนอดังกล่าวที่จะมีต่อเกษตรกรและกลุ่มผู้เพาะพันธุ์พืช เพื่อให้สามารถปรับแก้ข้อกำหนดด้านสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกันภายในเดือนมิถุนายน 2568  

4. พืช NGT: ปัจจุบันมีพืช NGT หลายตัวที่มีการวางจำหน่ายหรือกำลังจะวางจำหน่ายในตลาดของประเทศที่สาม (นอกสหภาพยุโรป) อาทิ กล้วย NGT ที่เปลือกไม่เปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อสุกงอม ขณะนี้มีการวางจำหน่ายแล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นพืช NGT ที่ช่วยลดปริมาณขยะอาหารและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี

5. ลำดับต่อไป คือการหารือในระดับประเทศสมาชิกในเวทีคณะมนตรียุโรป (EU Council) ซึ่งในอนาคตเมื่อร่างข้อเสนอพืช new genomic technique ของสหภาพยุโรป ผ่านการเห็นชอบจากสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป และถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว คาดว่า สหภาพยุโรปจะมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตให้แก่พืช new genomic technique ประเภทที่ 1 (NGT 1) เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพืชกลุ่มที่ได้รับการละเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการประเมินความเสี่ยง ซึ่งลดขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่าย