คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Regulation (EU) 2024/1991 ว่าด้วย การปรับแก้ไข Regulation (EU) 2022/869 เกี่ยวกับกฎฟื้นฟูธรรมชาติ (nature restoration) ใน EU Official Journal L series โดยมีรายละเอียดดังนี้
คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการฟื้นฟูธรรมชาติ ครอบคลุมพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่บนบก พื้นที่ชายฝั่ง ระบบนิเวศน้ำจืด ระบบนิเวศทางทะเล พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ระบบนิเวศในเมือง การเชื่อมต่อทางธรรมชาติของแม่น้ำและหน้าที่ทางธรรมชาติของที่ราบที่น้ำท่วมถึง ประชากรแมลงผสมเกสร ระบบนิเวศทางการเกษตร และระบบนิเวศป่าไม้ รวมถึงเป้าหมายในการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 3,000 ล้านต้นในสหภาพยุโรปภายในปี 2030 ทั้งนี้ ละเว้นในกรณีที่เป็นพื้นที่ทหารเพื่อป้องกันประเทศ (national defence)
วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่
- เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความยืดหยุ่นอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งพื้นที่ทางบกและทางทะเลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีความเสื่อมโทรม
- เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเป็นกลางของการเสื่อมโทรมของพื้นดิน
- เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร
- เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของสหภาพยุโรป
- กำหนดกรอบการทำงานที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำมาตรการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ให้อย่างมีประสิทธิผล โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่ทางบก (land areas) อย่างน้อย 20% และพื้นที่ทางทะเล (sea areas) อย่างน้อย 20% ภายในปี 2030 และครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมดภายในปี 2050 ตามบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่เกี่ยวข้องที่ปรากฏในภาคผนวก Regulation (EU) 2024/1991 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ จะต้องส่งมอบร่างแผนฟื้นฟูแห่งชาติให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาภายในวันที่ 1 กันยายน 2569 เป็นอย่างช้า รายละเอียดตามภาคผนวกที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- ภาคผนวก I: บัญชีรายชื่อระบบนิเวศทางบก ชายฝั่ง และน้ำจืด – ประเภทและกลุ่มที่อยู่อาศัยของประเภทที่อยู่อาศัยที่ระบุในมาตรา 4(1) และ (4)
- ภาคผนวก II: บัญชีรายชื่อระบบนิเวศทางทะเล – ประเภทที่อยู่อาศัยและกลุ่มประเภทที่อยู่อาศัยที่ระบุในมาตรา 5(1) และ (2)
- ภาคผนวก III: บัญชีรายชื่อพันธุ์สัตว์น้ำทางทะเลที่ระบุในมาตรา 5(5)
- ภาคผนวก IV: บัญชีรายชื่อตัวบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทางการเกษตรที่ระบุในมาตรา 11(2)
- ภาคผนวก V: ดัชนีนกในฟาร์มทั่วไป (common farmland bird index) ในระดับประเทศสมาชิกฯ
- ภาคผนวก VI: รายชื่อตัวบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศป่าไม้ตามระบุในมาตรา 12(2) และ 12(3)
- ภาคผนวก VII: รายชื่อตัวอย่างมาตรการฟื้นฟูที่ระบุในมาตรา 14(16) กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2567) ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้