free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปประกาศอนุญาตให้นำเข้ามะระจากไทยได้อีกครั้งอย่างเป็นทางการ

สหภาพยุโรปประกาศอนุญาตให้นำเข้ามะระจากไทยได้อีกครั้งอย่างเป็นทางการ

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2022/853 ปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2018/2019 และ implementing Regulation 2019/2072 ว่าด้วย การนำเข้ามะระจากฮอนดูรัส เม็กซิโก ศรีลังกา และไทย ใน EU Official Journal L 150/62  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. คณะกรรมาธิการยุโรปอนุญาตการนำเข้ามะระ (Momordica Charantia L.) จากไทยไปยังสหภาพยุโรปสามารถกระทำได้อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากที่เคยถูกระงับการส่งออกแล้วมาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2562) อย่างไรก็ดี เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัยพืช (phytosanitary risk) สหภาพยุโรปจึงกำหนดให้การส่งออกมะระจากไทย จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดการนำเข้าเฉพาะ (specific import requirements) เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเพลี้ยไฟ (Thrips palmi Karny) ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (acceptable level) กล่าวคือ

                        (1) มะระจะต้องมาจากพื้นที่ปลอดจากศัตรูพืช (pest free area) ที่รับรองโดยองค์กรอารักขาพืชระดับประเทศ (NPPO) โดยทำการแจ้งคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นการล่วงหน้า หรือ                                                                                                            

                        (2) มะระมาจากสถานเพาะปลูกที่มีการป้องกันทางกายภาพ (physical protection) โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักต้องทำการสุ่มตรวจและไม่ตรวจพบเพลี้ยไฟและ/หรืออาการ (symptoms) ก่อนการส่งออก ตามมาตรฐานสากล ISPM31 และได้รับการจัดการและบรรจุในลักษณะที่ป้องกันการปนเปื้อนเพลี้ยไฟภายหลังที่ออกจากสถานเพาะปลูก รวมถึงระบุข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับในหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช หรือ

                        (3) มะระมาจากสถานเพาะปลูกที่ปรับใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพ (effective systems approach) เพื่อรับรองการปลอดเพลี้ยไฟ ซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด ดังต่อไปนี้     

(3.1) สถานเพาะปลูก ต้อง                  

                                     – มีกับดักกาวเหนียว (sticky traps) ในการดักจับเพลี้ยไฟ ตลอดวงจรการผลิต

                                     – ได้รับการตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และพบว่าไม่มีอาการและ/หรือศัตรูพืชดังกล่าวตลอดวงจรการผลิต ในกรณีที่สงสัยว่ามี เพลี้ยไฟ จะต้องปรับใช้วิธีการบำบัดที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีศัตรูพืชดังกล่าว

                                     – ได้รับการควบคุมวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกำจัดโฮสต์ทางเลือก (alternative hosts) ของเพลี้ยไฟ และ

                             (3.2) ผลมะระอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพต่อเพลี้ยไฟและมาตรการดังกล่าวได้ถูกแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่คณะกรรมการธิการยุโรปทราบเป็นการล่วงหน้า โดยองค์กรอารักขาพืชระดับประเทศ (NPPO) ของประเทศที่สามที่เกี่ยวข้อง และ

                             (3.3) ผลมะระที่เก็บเกี่ยวได้ จะต้อง

                                     – ได้รับการจัดการและขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุในลักษณะที่ป้องกันการปน เปื้อนหลังออกจากสถานที่ผลิต

                                     – ได้ถูกแปรงและชำระล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อรับรองว่า ปลอดจากตัวอ่อน (larvae) หรือตัวเต็มวัย (adults) ของเพลี้ยไฟ

                                     – ได้รับการจัดการและบรรจุในลักษณะที่ป้องกันการปนเปื้อนหลังออกจากโรงคัดบรรจุ

                                     – ก่อนการส่งออกในทันที จะต้องไม่พบอาการของเพลี้ยไฟ จากการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ตามมาตรฐานสากล ISPM31

                             (3.4) ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับปรากฎอยู่ในหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช    

2. ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 3 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) ทั้งนี้ รายละเอียดของประกาศดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32022R0853&from=EN