free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปประกาศให้ใบแดง IUU แก่สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก

สหภาพยุโรปประกาศให้ใบแดง IUU แก่สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก

ด้วย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Decision (EU) 2023/2051 ว่าด้วย การประกาศให้สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago) อยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (non-cooperating country)” หรือ “ใบแดง” ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ใน EU Official Journal L 236/26สรุปสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวดังนี้

                   1. คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาแล้วเห็นว่า สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ในฐานะ Flag State, Port State, Coastal State และ Market State ยังคงขาดความรับผิดชอบในการต่อต้านการทำประมง IUU ตาม Council Regulation (EC) No 1005/ 2008 มาตรา 32 และข้อกำหนด/กฎระเบียบระดับสากลด้าน IUU ในมิติต่างๆ อาทิ การไม่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย/แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อแก้ไขปัญหา IUU ในประเทศ การบกพร่องในการตรวจสอบควบคุมเรือประมง/ท่าเรือ และการขึ้นทะเบียนอนุญาตเรือประมง ขาดการจัดการและควบคุมเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำที่ชักธงตรินิแดดและโตเบโก ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสากล อาทิ UNCLOS, UNFSA, RFMOs, FAO และ IPOA-IUU รวมถึงจากสถิติที่รวบรวมได้โดยคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ในปี 2564 การส่งออกสินค้าประมงของตรินิแดดและโตเบโกมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญกับการทำประมง IUU โดยพบว่า มีเรือประมงที่ชักธงของประเทศที่สามอาศัยใช้ท่าเรือของตรินิแดดและโตเบโกเป็นทางผ่าน  ส่งผลให้ตรินิแดดและโตเบโกมีการส่งออกปลาทูน่าอัลบาคอร์แช่แข็ง (Thunnus alalunga) เป็นปริมาณมากกว่า 1,000 ตัน ในขณะที่โควต้า ICCAT ของตรินิแดดและโตเบโกสำหรับปลาทูน่าอัลบาคอร์อยู่ที่ปริมาณ 267 ตันเท่านั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงเห็นควรให้ใบแดง IUU แก่สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก (หลังจากที่เคยให้ใบเหลืองไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559)  

                   2. สรุปสถานะล่าสุดของกลุ่มประเทศใบเหลือง – ใบแดง IUU ณ เดือนกันยายน 2566 :

                        2.1 กลุ่มประเทศใบเหลือง มีจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่                  

                     1) เซนต์คิตส์และเนวิส (ได้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557)

                     2) เซียร์ราลีโอน (ได้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559)

                     3) ไลบีเรีย (ได้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560)

                     4) เวียดนาม (ได้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560)

                     5) เอควาดอร์ (ได้ใบเหลืองเมื่อเดือนตุลาคม 2562)

                     6) ปานามา (ได้ใบเหลืองเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2562)

                     7) กานา (ได้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564)                                                                                             

                        2.2 กลุ่มประเทศใบแดง มีจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่

                             1) กัมพูชา (ได้ใบแดงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555)                                                                                                      

                             2) คอโมโรส (ได้ใบแดงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560)

                             3) เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (ได้ใบแดงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560)

                             4) แคเมอรูน (ได้ใบแดงเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566)

                       5) ตรินิแดดและโตเบโก (ได้ใบแดงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566)

                    3. ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศ (ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน 2566) เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของประกาศดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32023D2051