ด้วย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 สื่อออนไลน์ Food Navigator ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานสรุปกรณี หน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ปรับลดค่าสาร Bisphenol A (BPA)* ที่ร่างกายยอมรับได้สูงสุดต่อวัน (TDI) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- จากรายงานผลการประเมินความเสี่ยงล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับสาร Bisphenol A ของสหภาพยุโรปที่ผ่านมา EFSA พบว่า สารดังกล่าวมีความอันตรายต่อผู้บริโภคในทุกวัย นอกเหนือจากที่มีผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) แล้ว ยังพบว่า ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ระบบฮอร์โมน ระบบพัฒนาการ และระบบเผาผลาญของร่างกาย สามารถก่อให้เกิดโรคปอดติดเชื้อภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และทำลายภาวะการเจริญพันธุ์ จึงเห็นควรปรับแก้ค่าที่ร่างกายยอมรับได้สูงสุดต่อวัน (Tolerable Daily Intake: TDI) ของสาร Bisphenol A ใหม่ ที่ระดับ 0.2 นาโนกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน ซึ่งต่ำกว่าค่า TDI เดิม 20,000 เท่า (ในปี 2558 EFSA กำหนดค่า TDI ของสาร Bisphenol A ไว้ที่ระดับ 4 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน)
- EFSA จะนำประเด็นดังกล่าวหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกฯ เพื่อกำหนดมาตรการจัดการลดความเสี่ยงของสาร Bisphenol A ที่ถ่ายเทจากวัสดุและบรรจุภัณฑ์อาหารสู่สินค้าอาหารต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ ดังนี้
อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ Bisphenol A เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สัมผัสกับอาหาร (ตาม Commission Regulation (EU) 10/2011 ปรับแก้โดย Commission Regulation (EU) 2018/213) โดยกำหนดค่าถ่ายเทสูงสุด (migration limit) ไว้ที่ระดับ 0,05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2561 ไม่อนุญาตให้ใช้ในการผลิตขวดนมสำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ (ตาม Regulation (EU) 2018/213) ปัจจุบัน ประเทศสมาชิก EU หลายราย อาทิ ฝรั่งเศสได้ยกเลิกการใช้สาร Bisphenol A ในบรรจุภัณฑ์อาหารแล้วทุกประเภท สวีเดน เดนมาร์ก และเบลเยียม ห้ามการใช้สาร Bisphenol A ในบรรจุภัณฑ์อาหารของทารกตั้งแต่ 0 – 3 ขวบ และออสเตรียห้ามการใช้สาร Bisphenol A ในการผลิตจุกนมปลอมและยางกัดสำหรับเด็กทารก