free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับแก้ข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการยอมรับหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอินทรีย์

สหภาพยุโรปปรับแก้ข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการยอมรับหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอินทรีย์

    คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Commission Delegated Regulation (EU) 2021/1698 ว่าด้วย การเสริม Regulation (EC) No 2018/848 ด้านข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการยอมรับหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนในการตรวจรับรองผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ ใน EU Official Journal L 336/7 โดยมีรายละเอียดดังนี้

บท 1 ข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนในการยอมรับ (recognition) หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน (Control Authorities and Control Bodies)

  • การยื่นคำร้อง : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นคำร้องทางเทคนิค (technical dossier) ซึ่งประกอบด้วย อาทิ ชื่อ ที่อยู่ติดต่อ โครงสร้าง ประเภทการรับรอง และอื่นๆ เพื่อขอการยอมรับในการเป็นหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจากคณะกรรมาธิการยุโรปได้ ตามมาตรา 46(4) Regulation (EU) 2018/848 โดยหน่วยงานฯ ที่ยื่นคำร้องจะต้องไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกระงับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรปหรือหน่วยงานรับรอง (accreditation body) ใดๆ ในช่วง 24 เดือนก่อนการยื่นคำร้องนี้
  • การขยายขอบเขตการยอมรับ : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการยอมรับตามมาตรา 46 Regulation (EU) 2018/848 สามารถยื่นคำร้องทางเทคนิค เพื่อขอขยายขอบเขตการยอมรับให้ครอบคลุมไปยังประเทศที่สามอื่นๆ หรือสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมได้ บท 2 การตรวจสอบหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป
    • ข้อกำหนดทั่วไปในการควบคุมหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน : คณะกรรมาธิการยุโรปจะควบคุมหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน จากการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน ซึ่งความถี่และความเข้มงวดในการตรวจประเมินจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด มาตรา 46(6) Regulation (EU) 2018/848
  • รายงานประจำปี : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องส่งมอบรายงานประจำปี (annual report) ครอบคลุมกิจกรรมตลอดทั้งปีที่ผ่านมาให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปทราบ ภายในทุกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี
  • การตรวจสอบ ณ พื้นที่ (on-the-spot examinations) และการตรวจ  (audit) : คณะกรรมาธิการยุโรปจะกระทำการตรวจสอบ ณ พื้นที่ และ/หรือตรวจหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอบนพื้นฐานความเสี่ยง (risk-based)
  • การตรวจสอบย้อนกลับ (traceability check) : คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการยอมรับของหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนได้ ตามมาตรา 46(1) Regulation (EU) 2018/848 โดยอาจประเมินจากการผลประเมินความเสี่ยงประจำปี จากการได้รับการร้องเรียน หรือจากการสุ่มตรวจทั่วไป
  • การขอข้อมูลเฉพาะกิจ (ad hoc request) โดยคณะกรรมาธิการยุโรป : คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถเรียกขอข้อมูลเฉพาะกิจจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนได้บนพื้นฐานการวิเคราะห์หากพบว่ามีความจำเป็น                                                                                                                
  • บัญชีรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high-risk products) : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและ

เอกชนต้องทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากประเทศที่สามตามบัญชีรายชื่อที่ปรากฏ ตามมาตรา 46(8) Regulation (EU) 2018/848 บนพื้นฐานการคัดเลือกหลังจากพบว่า มีการไม่ปฏิบัติตาม (non-compliance) หรือกระทำผิดซ้ำ ที่ส่งผลต่อความถูกต้องของผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน (in-conversion) หรือต่อการผลิต

บท 3 การตรวจสอบผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการโดยหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน

การตรวจสอบที่กระทำโดยหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนในการตรวจสอบการปฏิบัติตาม

Regulation (EU) 2018/848 ของผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศที่สามต้องตรวจสอบว่า มีการใช้มาตรการป้องกันและระวังไว้ก่อน (preventive and precautionary measures) ตามที่ระบุในมาตรา 9(6) และมาตรา 28 ของ Regulation  (EU) 2018/848 ในทุกขั้นตอนของการผลิต การเตรียมการ และการจัดจำหน่าย โดยต้องตรวจสอบผู้ประกอบการทุกรายและกลุ่มผู้ประกอบการทุกกลุ่มในประเทศที่สามอย่างสม่ำเสมอบนพื้นฐานความเสี่ยงและความถี่ที่เหมาะสมและตามความเป็นไปได้ของการไม่ปฏิบัติตาม ตามระบุในข้อ (57) มาตรา 3 Regulation  (EU) 2018/848 อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี โดยรวมถึงการตรวจสอบ ณ พื้นที่ ในกรณีของผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงให้กระทำการตรวจสอบ ณ พื้นที่อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยการออกใบรับรอง/การต่ออายุใบรับรองตามข้อ (b)(i) มาตรา 45(1) Regulation  (EU) 2018/848 จะขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบของการปฏิบัติตามดังกล่าว

  • การตรวจสอบการรับรองผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการ : ก่อนที่หน่วยงานตรวจสอบ

ภาครัฐและเอกชนจะยอมรับที่จะให้การรับรองผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการใดๆ จะต้องทำการตรวจสอบสถานะผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการ ตามหนังสือที่ลงนาม (signed declaration) โดยผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้การรับรองว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนด การยินยอมให้หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิต การยินยอมส่งมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ สำหรับในกรณีที่ผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการที่เคยใช้บริการหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนรายอื่นก่อนหน้านี้ หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนรายปัจจุบันจะต้องทำการตรวจสอบผลการตรวจของผู้ประกอบการรายดังกล่าวย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี

  • วิธีและเทคนิคในการตรวจสอบ : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะต้องทำการตรวจสอบ

แผนที่หรือสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยการผลิต/โรงงาน อุปกรณ์ วิธีการขนส่ง โรงงาน สัตว์ พืช และสินค้า สินค้ากึ่งสำเร็จ วัตถุดิบ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ การติดฉลาก การตรวจสอบเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ/พนักงาน การสุ่มตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ ระบบควบคุม การตรวจสอบสมดุลมวลสาร (mass balance check) และอื่นๆ

  • การสุ่มตัวอย่าง : วิธีการที่ใช้สำหรับการสุ่มตัวอย่างและการเลือกห้องปฏิบัติการเพื่อการวิเคราะห์

ตัวอย่าง : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะต้องเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อตรวจหาการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ไม่ได้รับอนุญาตในการผลิตอินทรีย์ การตรวจสอบเทคนิคการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับกฎการผลิตอินทรีย์ โดยจะต้องทำการสุ่มตัวอย่างอย่างน้อย 5% ของจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การควบคุม และทำการสุ่มตัวอย่างอย่างน้อย 2% ของจำนวนสมาชิกในแต่ละกลุ่ม โดยต้องเลือกใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 (ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและการสอบเทียบ)

  • เอกสารขั้นตอนการควบคุม (documented control procedures) : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะต้องทำการตรวจสอบผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการตามเอกสารขั้นตอนการควบคุม อาทิ คำแถลงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เป้าหมาย งาน ความรับผิดชอบ หน้าที่ของพนักงาน กลยุทธ์การสุ่มตัวอย่าง ความร่วมมือและการสื่อสารกับหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอื่นๆ และคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นต้น
  • บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของการควบคุม : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดทำการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของการตรวจสอบควบคุมในแต่ละครั้ง ว่าได้มีการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 บันทึกดังกล่าวสามารถกระทำในรูปแบบกระดาษหรือในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์และต้องเก็บบันทึกดังกล่าวไว้เป็นเวลา 5 ปีนับจากวันที่หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนอนุญาตให้การรับรอง และได้รับการเซ็นต์กำกับโดยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อกำหนดการควบคุมเฉพาะสำหรับการผลิตสาหร่ายและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ : การผลิตสาหร่ายและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องกระทำในสถานที่ที่ไม่ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ตามข้อ 1.1 ส่วน III ภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 และมีมาตรการแบ่งแยกเขตที่เหมาะสมตาม ข้อ 1.2 ส่วน III รวมถึงการให้อาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากพืชและสัตว์น้ำต้องมาจากแหล่งอินทรีย์หรือแหล่งยั่งยืนตามข้อกำหนดของ FAO
  • การตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรป : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องทำการตรวจสอบสินค้าอินทรีย์ก่อนที่สินค้าจะเดินทางออกจากประเทศที่สามเพื่อถูกส่งไปยังสหภาพยุโรปว่าได้ปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 และ Commission Delegated Regulation (EU) 2021/1698  โดยต้องทำการตรวจสอบเอกสารการตรวจสอบย้อนกลับ ส่วนประกอบ/ปริมาณของสินค้า เอกสารการขนส่ง เอกสารทางการค้า แหล่งที่มาของส่วนประกอบอินทรีย์ในสินค้าแปรรูป และหนังสือรับรองในกรณีที่สินค้าถูกส่งมาในลักษณะบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ (bulk) หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องจัดทำผังการเดินทาง (travel plan) ของสินค้าในระบบ TRACES เพื่อระบุรายชื่อโรงงานทุกโรงที่สินค้าจะถูกส่งไปทั้งหมด

              ในกรณีสำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องทำการตรวจสอบสินค้าทางกายภาพและสุ่มตัวอย่างสินค้าอย่างน้อย 1 ตัวอย่าง/ล็อต รวมถึงตรวจสอบเอกสารการตรวจสอบย้อนกลับ เอกสารการขนส่ง เอกสารทางการค้า และใบเรียกเก็บเงิน

                 ในกรณีต้องสงสัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตาม คณะกรรมาธิการยุโรปหรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกสามารถร้องขอรายชื่อผู้ประกอบการหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าต้องสงสัยนั้น และรายชื่อหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 บท 4 การดำเนินการอื่น ๆ ที่จะดำเนินการโดยหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน

        4.1 บัญชีรายชื่อผู้ประกอบการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะทำการประกาศบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ บนเว็บไซต์ของตน เป็นภาษาราชการของสหภาพยุโรปอย่างน้อย 1 ภาษา

        4.2 ฐานข้อมูลผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ประกอบการ :  หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นปัจจุบันของผู้ปฏิบัติการและกลุ่มผู้ปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี และจัดส่งให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปหากมีการร้องขอ

        4.3 ข้อกำหนดด้านข้อมูล : ภายหลังจากการได้รับการยอมรับ (recognition) หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องทำการแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในข้อมูลประกอบการยื่นคำร้องทางเทคนิค (technical dossier) ในทันที โดยไม่เกินกว่า 30 วันตามปฏิทิน รวมถึงการแจ้งข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการรับรองในประเทศที่สามให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปหรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกทราบหากมีการร้องขอ

        4.4 ระบบและกระบวนการสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล :   หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนจะใช้ระบบ Organic Farming Information System (OFIS) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะกรรมาธิการยุโรป หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอื่นๆ หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิก และหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศที่สามที่เกี่ยวข้อง

        4.5 การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องทำการแจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรป หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนอื่นๆ หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิก และหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศที่สามที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่สงสัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามเกิดขึ้นและกระทบต่อสถานะความถูกต้องของผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน โดยหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องทำการสืบสวน และแจ้งผลการสืบสวนและมาตรการที่ปรับใช้ที่เกี่ยวข้องตามแบบฟอร์มที่กำหนดในภาคผนวก III ภายใน 30 วันตามปฏิทินหลังจากที่ได้รับการแจ้ง

        4.6 กฎเสริมเกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม (non-compliance) : นอกเหนือจากมาตรการที่ระบุในมาตรา 29(1), (2) และ (3) Regulation (EU) 2018/848 และมาตรา 2 Implementing Regulation (EU) 2021/279 เมื่อหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนสงสัยหรือได้รับข้อมูลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนรายอื่นๆ หรือผู้ประกอบการว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากประเทศที่สามเพื่อวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปอาจไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอินทรีย์ของ Regulation (EU) 2018/848 โดยหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องทำการสืบสวน (investigation) อย่างรวดเร็วในเวลาอันควร โดยให้คำนึงถึงอายุการบริโภคของผลิตภัณฑ์และความซับซ้อนของคดีเป็นหลัก รวมถึงไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากประเทศที่สามสามารถวางจำหน่ายในรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนได้จนกว่าจะทราบผลการสืบสวน อย่างไรก็ดี ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย และหากภายหลังจากการสืบสวนพบว่า ผู้ประกอบการไม่ได้กระทำผิดใดๆ ก็สามารถอนุญาตให้วางจำหน่ายสินค้าดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนในสหภาพยุโรปได้

        4.7 กฎเสริมเกี่ยวกับมาตรการในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม (non-compliance) : ในกรณีที่เกิดการไม่ปฏิบัติตามที่กระทบต่อความถูกต้อง (integrity) ของผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน ตลอดทั้งขั้นตอนการผลิต การจัดเตรียม และการจัดจำหน่าย อาทิ ในกรณีที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ สาร หรือเทคนิคที่ไม่ได้รับอนุญาต การปนเปื้อนร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อินทรีย์ หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องควบคุมไม่ให้มีการอ้างอิงถึงการผลิตอินทรีย์ (ติดฉลากหรือโฆษณา) ในตลาดสหภาพยุโรป

                เมื่อพบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามเกิดขึ้น หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องสืบหาที่มาและขอบเขต เพื่อใช้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และออกมาตรการแก้ไขการไม่ปฏิบัติตามและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก โดยต้องคำนึงถึงลักษณะ (nature) ของการไม่ปฏิบัติตาม และประวัติของผู้ประกอบการหรือกลุ่มผู้ประกอบการนั้น

                ในกรณีที่การไม่ปฏิบัติตามอยู่ในขั้นรุนแรง เกิดขึ้นซ้ำ หรือต่อเนื่อง นอกเหนือจากมาตรการข้างต้น  หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องระงับการอนุญาตให้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในสหภาพยุโรป รวมถึงระงับหรือถอดใบรับรอง (certificate) ตามระบุในข้อ (b)(i) มาตรา 45(1) Regulation (EU) 2018/848

        4.8 การตรวจสอบที่จะดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ในการยอมรับย้อนหลัง (retroactive recognition) ในช่วงเวลาก่อนหน้า : ก่อนที่จะให้การยอมรับย้อนหลังของช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาปรับเปลี่ยน ตามวัตถุประสงค์ของข้อ (b) ของมาตรา 10(3) Regulation (EU) 2018/848 หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องแน่ใจว่า ผู้ประกอบการได้ยื่นเอกสารที่พิสูจน์ว่า แปลงที่ดินเป็นพื้นที่ธรรมชาติหรือพื้นที่เกษตรกรรม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ไม่ผ่านการบำบัดหรือไม่มีการปนเปื้อนด้วยผลิตภัณฑ์หรือสารที่ไม่ได้รับอนุญาตสำหรับใช้ในการผลิตอินทรีย์ตาม Regulation (EU) 2018/848 โดยในรายงานฉบับสมบูรณ์ (final report) จะต้องระบุเหตุผล ว่าเหตุใดช่วงเวลาก่อนหน้าจึงสามารถได้รับการยอมรับย้อนหลังให้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงต้องระบุช่วงเวลาเริ่มต้นที่ครอบคลุมที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากการยอมรับย้อนหลังดังกล่าว

        4.9 การอนุญาตให้ใช้วัสดุสืบพันธุ์พืชที่ไม่ใช่อินทรีย์ : ก่อนการอนุญาตให้ใช้วัสดุสืบพันธุ์พืชที่ไม่ใช่อินทรีย์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.8.5.2 ของส่วนที่ I ภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องประเมินข้อมูลและจัดทำเหตุผลในการละเว้นแต่ละครั้งที่อนุญาต อาทิ ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ สายพันธุ์ น้ำหนักรวม วัสดุสืบพันธุ์พืชอินทรีย์หรือไม่ใช่อินทรีย์ที่มี (availability)

        4.10 การละเว้นการปฏิบัติในการใช้สัตว์และลูกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่ไม่ใช่อินทรีย์ (non-organic animals and aquaculture jeveniles) :

                (1) ก่อนการอนุญาตให้ใช้สัตว์ที่ไม่ใช่อินทรีย์ (วัว ม้า แกะ แพะ สุกร กวาง กระต่ายและสัตว์ปีก) ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1.3.4.3 และ 1.3.4.4 ส่วนที่ II ภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องประเมินข้อมูลและจัดทำเหตุผลในการละเว้นแต่ละครั้งที่อนุญาต อาทิ ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ สายพันธุ์ วัตถุประสงค์การผลิต (เนื้อ นม ไข่ หรือทั้ง 2 กรณี หรือเพื่อเพาะพันธุ์) จำนวนรวมของสัตว์ สายพันธุ์สัตว์อินทรีย์ที่มี (availability)

                (2) ก่อนการอนุญาตให้ใช้ลูกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่ไม่ใช่อินทรีย์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.2.1 ส่วนที่ III ภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนต้องประเมินข้อมูลและจัดทำเหตุผลในการละเว้นแต่ละครั้งที่อนุญาต อาทิ ชื่อสามัญ ชื่อละติน สายพันธุ์ ช่วงชีวิต (ไข่  ตัวอ่อน  หรือลูกสัตว์น้ำ) ที่มีจำหน่ายในรูปแบบอินทรีย์ ปริมาณที่มีตามที่ผู้ประกอบการประมาณการ จำนวนรวมของลูกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง สายพันธุ์สัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอินทรีย์ที่มี (availability)

        4.11 การรายงานเกี่ยวกับการอนุญาตชั่วคราวในการใช้ส่วนผสมทางการเกษตรที่ไม่ใช่อินทรีย์สำหรับอาหารอินทรีย์แปรรูป (processed organic food) : หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรป ประเทศสมาชิก หน่วยงานรับรอง และหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับตามมาตรา 46(1) Regulation (EU) 2018/848 ในทันทีเกี่ยวกับการอนุญาตชั่วคราวที่อนุญาตให้ใช้ส่วนผสมทางการเกษตรที่ไม่ใช่อินทรีย์สำหรับอาหารอินทรีย์แปรรูป ตามมาตรา 25(4)  Regulation (EU) 2018/848 การแจ้งจะต้องระบุถึงเหตุผลและนำเสนอในแบบฟอร์มเฉพาะที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการยุโรป

 บท 5 การละเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ในสถานการณ์ภัยพิบัติ

        5.1 การยอมรับในสถานการณ์ภัยพิบัติ : สำหรับวัตถุประสงค์ของกฎการผลิตพิเศษ (exceptional production rules) ที่ระบุในมาตรา 22(1) และ 45(3) ของ Regulation (EU) 2018/848 เพื่อให้สถานการณ์เข้าข่ายเป็นภัยพิบัติที่เกิดจาก “เหตุการณ์ทางสภาพอากาศที่ไม่พึงประสงค์” “’โรคสัตว์” “เหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม” “ภัยธรรมชาติ” หรือ “เหตุการณ์ภัยพิบัติ” รวมถึงสถานการณ์ที่คล้ายคลึง หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนสามารถให้การยอมรับว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติตามคำแถลง (statement) ที่ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่สามที่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ในกรณีหากไม่มีคำแถลง ให้ยึดตามข้อมูลที่จัดทำโดยหน่วยงานทางการแทน

        5.2 เงื่อนไขในการละเว้นการปฏิบัติ : อนุญาตภายในระยะเวลาที่จำกัดและไม่เกินความจำเป็น และไม่เกินกว่า 12 เดือน เพื่อให้ดำเนินการผลิตอินทรีย์ต่อหรือเริ่มการผลิตอินทรีย์ใหม่เหมือนก่อนหน้าที่ได้รับการละเว้นการปฏิบัตินั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ หรือแปลงที่ดินที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการแต่ละรายหรือสมาชิกของกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

บท 6 ข้อกำหนดทั่วไปและขั้นสุดท้าย

        6.1 การอ้างถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและประเทศสมาชิกในภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848

               (1) การอ้างถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 ให้อ่านว่า หมายถึงหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการยอมรับตามมาตรา 46(1) ของ Regulation (EU) 2018/848 ตามข้อที่ระบุดังต่อไปนี้

                   ก) ข้อ 1.7.2 และวรรคแรกของข้อ 1.7.3 ส่วน I

                   ข) ข้อ 1.3.4.3 ข้อ 1.3.4.4.3 ข้อ 1.6.7 ข้อ 1.7.5 ข้อ 1.7.8 ข้อ 1.9.3.1 ข้อ 1.9.4.1 และข้อ 1.9.4.2 ส่วน II

                   ค) ข้อ 3.1.2.1 และข้อ 3.1.3.1 ส่วน III

                   ข้อมูลที่ระบุในข้อ 1.9.4.1 ส่วน II จะถูกส่งไปให้คณะกรรมาธิการยุโรปเท่านั้น

               (2) การอ้างถึงประเทศสมาชิกในข้อ 1.9.4.4 (c) ส่วน II ภาคผนวก II Regulation (EU) 2018/848 ให้อ่านว่า หมายถึงหน่วยงานตรวจสอบภาคภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการยอมรับตามมาตรา 46(1) ของ Regulation (EU) 2018/848

กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32021R1698&from=EN