free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของด้วงหนวดยาว (Anoplophora chinensis: Forster)  ในสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของด้วงหนวดยาว (Anoplophora chinensis: Forster)  ในสหภาพยุโรป

Commission Implementing Regulation (EU) 2022/2095 ว่าด้วย มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของด้วงหนวดยาว (Anoplophora chinensis: Forster)ในหรือเข้ามายังสหภาพยุโรป ใน EU Official Journal L 281/53 โดยมีรายละเอียดดังนี้

        1. คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นควรแก้ไขมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของของด้วงหนวดยาว (Anoplophora chinensis: Forster)ในหรือเข้ามายังสหภาพยุโรป ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่ดำเนินอยู่ในสหภาพยุโรปให้เป็นปัจจุบัน ดังนี้

           1) คำนิยามของพืชที่ระบุ (specified plants) และ พืชอาศัย (host plants) (มาตรา 2)

               (1) พืชที่ระบุ (specified plants) คือ พืชเพื่อการเพาะปลูก (plants for planting) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นหรือรากที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไปจากตรงจุดที่หนาที่สุด ของพืชดังต่อไปนี้ (1) Acer spp. (2)  Aesculus hippocastanum (3) Alnus spp. (4) Betula spp. (5) Carpinus spp.  (6) Citrus spp. (7) Cornus spp. (8) Corylus spp. (9) Cotoneaster spp. (10) Crataegus spp.     (11) Fagus spp. (12) Lagerstroemia spp. (13)  Malus spp. (14) Melia spp. (15) Ostrya spp. (16) Photinia spp. (17) Platanus spp. (18) Populus spp. (19) Prunus laurocerasus (20) Pyrus spp. (21) Rosa spp. (22) Salix spp. (23) Ulmus spp. (24) Vaccinium corymbosum

               (2) พืชอาศัย (host plants) คือ พืชเพื่อการเพาะปลูก (plants for planting) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นหรือรากที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไปจากตรงจุดที่หนาที่สุด ของพืชดังต่อไปนี้ (1) Acer spp. (2) Aesculus hippocastanum (3) Alnus spp. (4) Betula spp. (5) Carpinus spp.    (6) Chaenomeles spp. (7) Citrus spp. (8) Cornus spp. (9) Corylus spp. (10) Cotoneaster spp. (11) Crataegus spp. (12) Cryptomeria spp. (13) Fagus spp. (14) Ficus spp. (15) Hibiscus spp. (16) Lagerstroemia spp. (17) Malus spp. (18) Melia spp. (19) Morus spp. (20) Ostrya spp. (21) Parrotia spp. (22) Photinia spp. (23) Platanus spp. (24) Populus spp. (25) Prunus laurocerasus (26) Pyrus spp. (27) Rosa spp. (28) Salix spp. (29) Ulmus spp. (30) Vaccinium corymbosum

           2) การสำรวจพืชอาศัยในอาณาเขตของประเทศสมาชิก (มาตรา 3)

  • ประเทศสมาชิกฯ ต้องทำการสำรวจพืชอาศัย (host plant) ตามพื้นฐานความเสี่ยงรายปี เพื่อตรวจจับศัตรูพืชที่ระบุ (specified pest) ในอาณาเขตของตน ซึ่งไม่เคยมีการตรวจพบศัตรูพืชดังกล่าวมาก่อนหน้านี้
  • รูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างที่ปรับใช้ในประเทศสมาชิกจะต้องสามารถระบุระดับความเชื่อมั่นการติดเชื้อของพืชได้ในระดับต่ำ ตาม EFSA’s General guidelines for statistically sound and risk-based surveys for plant pests
  • การสำรวจจะต้องกระทำบนพื้นฐานของระดับความเสี่ยงสุขอนามัยพืช (phytosanitary risk) ในสถานที่เปิด (open air) สถานที่เพาะปลูก สวนเพาะปลูก ศูนย์การค้า พื้นที่ธรรมชาติ และสถานที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การสำรวจดังกล่าวจะต้องกระทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมของปี เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการตรวจจับศัตรูพืชที่ระบุ โดยพิจารณาจากชีววิทยาของศัตรูพืชนั้น ๆ และพืชอาศัย และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคตาม EFSA’s Pest Survey Card ของ Anoplophora chinensis
  • การสำรวจต้องประกอบด้วยการตรวจสอบพืชอาศัยด้วยตาเปล่า (visual examination) และการเก็บตัวอย่างและการทดสอบพืชเพื่อการเพาะปลูก นอกเหนือจากนี้สามารถใช้สุนัขดมกลิ่นที่ได้รับการฝึกหัดเพื่อการนี้ตามความเหมาะสม

           3) แผนฉุกเฉิน (contingency plans) (มาตรา 4)

               (1) ประเทศสมาชิกฯ จะต้องจัดทำแผนฉุกเฉิน ตามมาตรา 25 Regulation (EU) 2016/2031 ครอบคลุมการดำเนินการในอาณาเขตของตน ดังนี้

                     (ก) การกำจัดศัตรูพืชที่ระบุตามมาตรา 8

                     (ข) การเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุในสหภาพยุโรปตามมาตรา 10

                     (ค) การตรวจสอบการเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุในสหภาพยุโรป และพืชอาศัยที่นำเข้ามายังสหภาพยุโรปตามมาตรา 10 และ 11

                     (ง) ข้อมูลขั้นต่ำ (minimum resources) ที่สามารถเปิดเผยได้ และกระบวนการในการเปิดเผยข้อมูลอื่น ๆ ในกรณีที่มีการยืนยันหรือสงสัยการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ

                     (จ) กฎที่มีรายละเอียดด้านกระบวนการสำหรับการระบุเจ้าของพืชที่จะถูกกำจัด การแจ้งการกำจัด และการเข้าตรวจสอบพื้นที่ส่วนบุคคล

                 (2) ประเทศสมาชิกฯ จะต้องปรับแผนฉุกเฉินให้เป็นปัจจุบันตามความเหมาะสมภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี

           4) การจัดทำพื้นที่ควบคุม (Establishment of demarcated areas) (มาตรา 5)

               (1) ในกรณีที่มีการยืนยันการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ ประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดพื้นที่ควบคุมอย่างทันท่วงที

                     (ก) พื้นที่ซึ่งรวมพืชที่ติดเชื้อและพืชที่ระบุอื่นๆ ที่อาจจะได้รับการติดเชื้อภายในรัศมี 100 เมตร โดยรอบของพืชที่ติดเชื้อนั้นๆ (พื้นที่ติดเชื้อ)

                     (ข) พื้นที่กันชนมีความกว้างอย่างน้อย 2 กิโลเมตรนับจากขอบพื้นที่ติดเชื้อ

               (2) การปรัดลดพื้นที่ควบคุมต้องขึ้นอยู่กับเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาของศัตรูพืชที่ระบุ ระดับการติดเชื้อ ความหนาแน่นของพืชอาศัยในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุ

               (3) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับใช้มาตรการกำจัดตามมาตรา 8 ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักลงความเห็นให้กำจัดศัตรูพืชที่ระบุ โดยพิจารณาจากการระบาดที่เกิดขึ้น ตามขนาด ที่ตั้ง ระดับการติดเชื้อ จำนวน และความหนาแน่นของพืชอาศัย ให้ลดความกว้างของพื้นที่กันชนลงได้ต่ำสุดที่ขนาด 1 กิโลเมตร

               (4) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับใช้มาตรการกักกันตามมาตรา 9 พื้นที่กันชนต้องมีความกว้างอย่างน้อย 4 กิโลเมตร ทั้งนี้ ความกว้างของพื้นที่กันชนสามารถปรับลดลงได้ต่ำสุดที่ขนาด 2 กิโลเมตร โดยพิจารณาจากการระบาดที่เกิดขึ้น ขนาด ที่ตั้ง ระดับการติดเชื้อ จำนวน และความหนาแน่นของพืชอาศัย

               (5) ในกรณีที่มีการยืนยันการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุในพื้นที่กันชนของพื้นที่ควบคุมในการกักกัน ให้ปรับใช้มาตรา 17 และมาตรา 18 Regulation (EU) 2016/2031

           5) การยกเว้นในการจัดทำพื้นที่ควบคุม (derogations from the establishment of demarcated areas) (มาตรา 6)

               (1) การยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 5 หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักอาจเลือกที่จะไม่กำหนดพื้นที่ควบคุมได้ ในกรณีที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

                    (ก) กรณีที่มีหลักฐานว่า ศัตรูพืชที่ระบุมีการนำเข้าไปในพื้นที่กับต้นไม้ที่ตรวจพบและต้นไม้ดังกล่าวมีการติดเชื้อก่อนที่จะนำเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว หรือเป็นการตรวจพบที่แยกออกมา (isolated finding) ไม่ส่งผลต่อการกำหนดพื้นที่ควบคุม  และ

                    (ข) เป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ ไม่สามารถแพร่กระจายและขยายพันธุ์ได้ ตามหลักชีววิทยาของศัตรูพืช โดยอิงจากผลของการตรวจสอบและมาตรการกำจัดเฉพาะที่ปรับใช้

               (2) ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักให้การยกเว้นตามข้อ 1 จะต้อง

                    (ก) ปรับใช้มาตรการทันทีเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำจัดศัตรูพืชที่ระบุโดยทันทีและเพื่อจำกัดความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาด

                    (ข) ตลอดวงจรชีวิตของศัตรูพืชที่ระบุอย่างน้อยหนึ่งรอบ บวกเพิ่มอีก 1 ปี และอย่างน้อยเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ให้ตรวจสอบเป็นความกว้างอย่างน้อย 1 กิโลเมตรโดยรอบของพืชที่ติดเชื้อหรือบริเวณที่ตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุอย่างสม่ำเสมอและอย่างละเอียด อย่างน้อยในช่วงปีแรก

                     (ค) ทำลายวัตถุพืชที่ติดเชื้อ

                     (ง) ติดตามย้อนกลับที่มาของการติดเชื้อและพืชที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด และตรวจสอบพืชดังกล่าว เพื่อหาอาการ (sign) ของการติดเชื้อ รวมถึงการสุ่มตัวอย่างทำลายเป้าหมาย (targeted destructive sampling)

                     (จ) สร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามของศัตรูพืชที่ระบุ และ

                     (ฉ) ปรับใช้มาตรการอื่นใด ซึ่งอาจช่วยกำจัดศัตรูพืชที่ระบุ โดยคำนึงถึง ISPM No 9 (6) และใช้แนวทางแบบบูรณาการตามหลักการที่กำหนดไว้ใน ISPM No 14 (7)

           6) การยกเลิกพื้นที่ควบคุม (lifting of demarcation) (มาตรา 7)

               (1) การสำรวจตามมาตรา 8(1) ข้อ (h) ในกรณีที่ไม่พบศัตรูพืชที่ระบุในพื้นที่ควบคุมเป็นเวลาตลอดวงจรชีวิตของศัตรูพืชที่ระบุอย่างน้อยหนึ่งรอบ บวกเพิ่มอีก 1 ปี และโดยรวมไม่น้อยว่า 4 ปีติดต่อกัน ให้สามารถยกเลิกการควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยช่วงวรจรชีวิตที่ชัดเจนของศัตรูพืชที่ระบุให้ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มีอยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องหรือเขตภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกัน

               (2) การยกเลิกพื้นที่ควบคุมสามารถกระทำได้ หากได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 6(1)

           7) มาตรการกำจัด (eradication measures)  (มาตรา 8)

               (1) การกำจัดในพื้นที่ควบคุม หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักต้องดำเนินมาตรการดังต่อไปนี้

                    (ก) การตัดโค่นพืชที่ติดเชื้อและพืชที่สงสัยว่าติดเชื้อทันทีและกำจัดรากให้หมด

                    (ข) การตัดโค่นพืชที่ระบุทั้งหมดทันทีและถอนรากออกภายในรัศมี 100 เมตรโดยรอบพืชที่ติดเชื้อ และตรวจสอบพืชที่ระบุเพื่อหาอาการของการติดเชื้อ ยกเว้นในกรณีที่พบพืชที่ติดเชื้อนอกช่วงระยะเวลาบิน (outside the flying period) ของศัตรูพืชที่ระบุ การตัดโค่นและการกำจัดจะต้องกระทำในเวลาก่อนเริ่มระยะเวลาบินรอบถัดไป (before the start of the next flying period)

                    (ค) การเคลื่อนย้าย การตรวจสอบ และการกำจัดพืชที่ถูกโค่นอย่างปลอดภัย ตามข้อ (a) และ (b) และรากของต้นไม้ โดยใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุในระหว่างและหลังการโค่น

                    (ง) ห้ามเคลื่อนย้ายวัตถุที่อาจติดเชื้อออกจากพื้นที่ควบคุม

                    (จ) ตรวจสอบที่มาของการติดเชื้อโดยการติดตามพืชให้มากที่สุด และตรวจสอบพืชเหล่านั้นเพื่อหาอาการของการติดเชื้อ รวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมาย                                   

                    (ช) ห้ามปลูกพืชที่ระบุขึ้นใหม่ในพื้นที่โล่ง ที่อ้างถึงในข้อ (b) ยกเว้นสถานที่ผลิตที่อ้างถึงในมาตรา 10(1)

                    (ฉ) ทดแทนพืชที่ระบุโดยพืชสายพันธุ์อื่นที่ไม่มีความอ่อนไหวต่อศัตรูพืชดังกล่าว (other non-susceptible plant species) ตามความเหมาะสม

                    (ซ) สำรวจพืชอาศัย ตามมาตรา 3(2) และ (3) ในพื้นที่ควบคุม โดยเน้นเขตกันชนสำหรับการปรากฏตัวของศัตรูพืชที่ระบุ และรวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายตามความเหมาะสมโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก และมีการระบุจำนวนตัวอย่างในรายงานที่อ้างถึงในมาตรา 13(1)

                      (ฌ) ในกรณีของพืชเฝ้าระวัง (sentinel plants) พืชดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และจะต้องถูกทำลายและตรวจสอบ2 ปีหลังจากนั้นเป็นอย่างช้า

                     (ญ) สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามของศัตรูพืชที่ระบุ และมาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าและการแพร่กระจายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุออกจากพื้นที่ควบคุม

                     (ฎ) ในกรณีที่จำเป็น ปรับใช้มาตรการเฉพาะเพื่อจัดการกับภาวะหรือความแทรกซ้อนที่สามารถป้องกัน ขัดขวาง หรือชะลอการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงและการกำจัดพืชทั้งหมดที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ โดยไม่คำนึงถึงจุดที่ตั้ง ความเป็นเจ้าของโดยภาครัฐหรือเอกชน หรือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

                      (ฏ) มาตรการอื่นใดที่อาจนำไปสู่การกำจัดศัตรูพืชที่ระบุ ตามมาตรฐานสากลสำหรับมาตรการสุขอนามัยพืช (‘ISPM’) ฉบับที่ 9 (8) และการนำแนวทางของระบบไปใช้ตามหลักการที่กำหนดไว้ใน ISPM ฉบับที่ 14(9)

                     ในกรณีของวรรคย่อยแรก ข้อ (a) ซึ่งหากไม่สามารถกำจัดตอที่ฝังลึก (deeply seated stumps) และรากที่ผิวดิน (surface roots) ได้ จะต้องทำการบดให้ต่ำกว่าระดับพื้นผิวไม่น้อยกว่า 40 เซ็นติเมตร หรือต้องห่อหุ้มด้วยวัตถุกันแมลง (insect-proof material)

                     การสำรวจที่อ้างถึงในข้อ (1) (h) จะต้องเป็นการสำรวจอย่างละเอียดหากเมื่อเทียบกับการสำรวจที่อ้างถึงในมาตรา 3

                     การสำรวจในเขตกันชนจะต้องเป็นไปตามคู่มือทั่วไปของ EFSA ในการสำรวจความเสี่ยงทางสถิติและความเสี่ยงของศัตรูพืช ซึ่งรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างในเขตกันชนนั้น จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

              (2) การยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ 1 วรรคย่อยแรก ข้อ (b) เมื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักได้ สรุปว่า การตัดโค่นไม่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมเฉพาะ พืชแต่ละต้นนั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบเป็นรายต้นในทุกๆเดือน เพื่อตรวจหาอาการของการติดเชื้อ และมาตรการทางเลือกอื่น นอกเหนือไปจากการตัดโค่น เพื่อให้แน่ใจว่ามีการป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุจากพืชดังกล่าวในระดับสูง

                     เหตุผลในการสรุปผลดังกล่าว และมาตรการที่ปรับใช้ต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบในรายงานภายใต้มาตรา 13

           8) มาตรการกักกัน (containment measures) (มาตรา 9)

               (1) เมื่อผลการสำรวจที่อ้างถึงในมาตรา 8(1) ข้อ (h) ได้ยืนยันว่า มีศัตรูพืชที่ระบุอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานกว่าสี่ปีติดต่อกัน และมีหลักฐานว่าศัตรูพืชที่ระบุไม่สามารถกำจัดได้อีกต่อไป หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักอาจจำกัดมาตรการเพื่อกักกันศัตรูพืชที่ระบุได้                                                                                                                    

                    การกักกันในพื้นที่ควบคุม หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักต้องดำเนินมาตรการดังต่อไปนี้

                    (ก) การตัดโค่นพืชติดเชื้อและพืชที่มีอาการว่าติดเชื้อจากศัตรูพืชที่ระบุในทันทีและกำจัดรากให้หมดสิ้น และกระบวนการทั้งหมดจะต้องกระทำในเวลาก่อนเริ่มระยะเวลาบินรอบถัดไป

                    (ข) การเคลื่อนย้าย การตรวจสอบ และการกำจัดพืชที่ถูกโค่น และรากของต้นไม้ โดยใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุหลังการตัดโค่น

                    (ค) ห้ามเคลื่อนย้ายวัตถุที่อาจติดเชื้อออกจากพื้นที่ควบคุม

                    (ง) ทดแทนพืชที่ระบุโดยพืชสายพันธุ์อื่นที่ไม่มีความอ่อนไหวต่อศัตรูพืชดังกล่าว (other non-susceptible plant species) ตามความเหมาะสม

                    (จ) ห้ามปลูกพืชที่ระบุขึ้นใหม่ในพื้นที่โล่งที่อยู่ในพื้นที่ติดเชื้อ ยกเว้นสถานที่ผลิตที่อ้างถึงในมาตรา 10(1)

                    (ฉ) สำรวจพืชอาศัย ตามมาตรา 3(2) และ (3) ในพื้นที่กันชน เพื่อหาการปรากฏตัวของศัตรูพืชที่ระบุในเวลาที่เหมาะสม และรวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายตามความเหมาะสม

                    (ช) ในกรณีที่มีการใช้พืชเฝ้าระวัง (sentinel plants) พืชดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และจะต้องถูกทำลายและตรวจสอบ 2 ปีหลังจากนั้นเป็นอย่างช้า

                      (ซ) สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามของศัตรูพืชที่ระบุ และมาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าและการแพร่กระจายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายพืชที่ระบุออกจากพื้นที่ควบคุมที่กำหนดขึ้นตามมาตรา 5

                     (ฌ) ในกรณีที่จำเป็น ปรับใช้มาตรการเฉพาะเพื่อจัดการกับภาวะหรือความแทรกซ้อนที่สามารถป้องกัน ขัดขวาง หรือชะลอการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงและการกำจัดพืชทั้งหมดที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อ โดยไม่คำนึงถึงจุดที่ตั้ง ความเป็นเจ้าของ หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

                     (ญ) มาตรการอื่นใดที่อาจช่วยกักกันศัตรูพืชที่ระบุ

                     ในกรณีของวรรคย่อยที่ 2 ข้อ (a) ซึ่งหากไม่สามารถกำจัดตอที่ฝังลึก (deeply seated stumps) และรากที่ผิวดิน (surface roots) ได้ จะต้องทำการบดให้ต่ำกว่าระดับพื้นผิวไม่น้อยกว่า 40 เซ็นติเมตร หรือต้องห่อหุ้มด้วยวัตถุกันแมลง (insect-proof material)

                     การสำรวจที่อ้างถึงในวรรคย่อยที่ 2 ข้อ (f) จะต้องเป็นการสำรวจอย่างละเอียดหากเมื่อเทียบกับการสำรวจที่อ้างถึงในมาตรา 3

                     การสำรวจให้พิจารณาจากคู่มือทั่วไปของ EFSA ในการสำรวจความเสี่ยงทางสถิติและความเสี่ยงของศัตรูพืช ซึ่งรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างนั้น จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

              (2) ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบ เกี่ยวกับพื้นที่ควบคุมเพื่อการกักกันที่จะกำหนดหรือแก้ไขในทุกครั้ง

          9) การเคลื่อนย้ายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป (movements within the Union territory) (มาตรา 10)

               (1)  พืชที่ระบุที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่ควบคุมที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 5 สามารถย้ายออกจากพื้นที่ควบคุมและจากพื้นที่ติดเชื้อเพื่อไปยังพื้นที่กันชนได้ หากพืชดังกล่าวมีหนังสือเดินทางพืช (plant passport) ที่จัดทำและออกให้ตามมาตรา 78 ถึง 95 Reulation (EU) ) 2016/2031 และพืชถูกเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อนการเคลื่อนย้าย หรือในกรณีของพืชที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ตลอดชีวิตของพืชดังกล่าวที่อยู่ในสถานที่ผลิตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้                                                                                                             

                     (ก) พืชที่ระบุได้รับการขึ้นทะเบียน ตามมาตรา 65 Reulation (EU) ) 2016/2031

                     (ข) พืชที่ระบุได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่พบอาการติดเชื้อดังกล่าว

                     (ค) พืชที่ระบุตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมที่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ เพื่อหาการปรากฏตัวหรือสัญญาณของศัตรูพืชที่ระบุทุกปีภายในพื้นที่ความกว้างอย่างน้อย 1 กิโลเมตรโดยรอบในช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่พบศัตรูพืชที่ระบุหรือสัญญาณที่ระบุว่ามีศัตรูพืชที่ระบุในพื้นที่ปลูกพืชดังกล่าว

                          – โดยการป้องกันทางกายภาพจากการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุ หรือ

                          – โดยการปรับใช้กระบวนการป้องกันที่เหมาะสม  หรือ

                            – โดยจะมีการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายในแต่ละล็อตของพืชที่ระบุก่อนการเคลื่อนย้าย

                       การตรวจสอบที่อ้างถึงในวรรคย่อยที่ 1 ข้อ (b) จะต้องรวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายของรากและลำต้นของพืช ขนาดของตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบจะต้องสามารถตรวจจับการติดเชื้อได้อย่างน้อยที่ระดับร้อยละ 1 และมีระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99

                     การสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายที่อ้างถึงในวรรคย่อยที่ 1 ข้อ (c) จะต้องดำเนินการตามระดับที่กำหนดไว้ในตารางที่ปรากฏในภาคผนวก II

                       การสำรวจที่อ้างถึงในวรรคย่อยที่ 1 ข้อ (c) จะต้องเป็นไปตามคู่มือทั่วไปของ EFSA ในการสำรวจความเสี่ยงทางสถิติและความเสี่ยงของศัตรูพืช ซึ่งรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างนั้น จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

                       ต้นตอ (rootstocks) ที่ปลูกในสถานที่ผลิตที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดที่ระบุในวรรย่อยที่ 1 อาจต่อกิ่ง (be grafted) ด้วยกิ่งพันธุ์ดี (scions) ที่ไม่ได้ปลูกภายใต้เงื่อนไขที่อ้างถึงในวรรคย่อยที่ 1  ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร ณ จุดที่มีความหนาที่สุดได้  

                 (2) พืชที่ระบุซึ่งไม่ได้กำเนิดในพื้นที่ควบคุม แต่นำเข้าไปยังสถานที่ผลิตในพื้นที่ดังกล่าว สามารถเคลื่อนย้ายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรปได้ ก็ต่อเมื่อสถานที่ผลิตนั้นปฏิบัติตามข้อกำหนดในวรรค 1 วรรคย่อย 1 ข้อ (c) และเฉพาะในกรณีที่พืชมีหนังสือเดินทางพืชประกอบ ตามที่ระบุในวรรค 1

                   (3) พืชที่ระบุที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ซึ่งมีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ ตามบทที่ VI สามารถเคลื่อนย้ายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรปได้ เฉพาะในกรณีที่มีหนังสือเดินทางพืชประกอบ ตามที่ระบุในวรรค 1

           10) การนำเข้าพืชที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่สาม ซึ่งไม่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ (มาตรา 11)

                 พืชที่ระบุที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่สาม ซึ่งไม่มีศัตรูพืชที่ระบุ สามารถนำเข้ามายังในสหภาพยุโรปได้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขดังนี้

                 (1) NPPO ของประเทศที่สามได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงคณะกรรมาธิการยุโรปว่า ศัตรูพืชที่ระบุนั้นไม่ปรากฎอยู่ในประเทศ  และ

                 (2) พืชอาศัยจะต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช (phytosanitary certificate) ที่ระบุภายใต้หัวข้อ “การประกาศเพิ่มเติม” (additional declaration) ว่า ‘ศัตรูพืชที่ระบุไม่มีอยู่ในประเทศ’

           11) การนำเข้าพืชที่ระบุที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศที่สามที่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ  (มาตรา 12)

                 (1) พืชที่ระบุที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศที่สามที่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุจะต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืชที่ระบุภายใต้หัวข้อ “การประกาศเพิ่มเติม” (additional declaration) ตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                      (ก) วงจรการเพาะปลูกทั้งหมดของพืชที่ระบุเกิดขึ้นในสถานที่เพาะปลูกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและควบคุมโดย NPPO ของประเทศแหล่งกำเนิด และตั้งอยู่ในเขตปลอดศัตรูพืชที่กำหนดโดย NPPO ตามมาตรฐานสากลด้านมาตรการสุขอนามัยพืชและบนพื้นฐานของการสำรวจอย่างเป็นทางการ

                      (ข) พืชถูกปลูกในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อนส่งออก หรือในกรณีที่พืชมีอายุน้อยกว่า 2 ปี พืชดังกล่าวได้ถูกปลูกตลอดวงจรชีวิตในสถานที่ผลิต ดังต่อไปนี้  

                            – สถานที่ปลอดจากศัตรูพืชที่ระบุ ตามมาตรฐานสากลด้านมาตรการสุขอนามัยพืช

                           – สถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและอยู่ภายใต้การควบคุมของ NPPO ของประเทศแหล่งกำเนิด

                           – สถานที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ และไม่ตรวจพบการปรากฎของศัตรูพืชดังกล่าว

                           – สถานที่ที่ปลูกพืชประกอบด้วย

                             1. การป้องกันทางกายภาพ ต่อการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุ หรือ

                             2. การปรับใช้กระบวนการป้องกันที่เหมาะสม และล้อมรอบด้วยเขตกันชนที่มีความกว้างอย่างน้อย 1 กิโลเมตร โดยมีการสำรวจการปรากฏตัวหรือสัญญาณของศัตรูพืชที่ระบุอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปีในช่วงเวลาที่เหมาะสม และ 

                             – ในกรณีก่อนส่งออกในทันที พืชต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการเพื่อหาศัตรูพืชที่ระบุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรากและลำต้น รวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมาย หรือ

                       (ค) พืชที่เติบโตจากต้นตอ (rootstocks) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในข้อ (b) ซึ่งต่อกิ่งด้วยกิ่งพันธุ์ดี (scions) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

                           – ในขณะที่ส่งออก กิ่งพันธุ์ดีที่มีการต่อกิ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร ณ จุดที่มีความหนาที่สุด และ

                          – พืชที่ต่อกิ่งได้รับการตรวจสอบตามข้อ (b)(iii)

                       ชื่อของพื้นที่ปลอดศัตรูพืชที่อ้างถึงในวรรคย่อย 1 ข้อ (a) ให้กล่าวถึงภายใต้หัวข้อ ‘สถานที่แหล่งกำเนิด’ (place of origin)

                      การสำรวจที่อ้างถึงในวรรคย่อย 1 ข้อ (a) เป็นไปตามคู่มือทั่วไปของ EFSA ในการสำรวจความเสี่ยงทางสถิติและความเสี่ยงของศัตรูพืช ซึ่งรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างนั้น จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับต่ำสุดและภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่เพียงพอ

                       การสำรวจที่อ้างถึงในวรรคย่อย 1 ข้อ (b)(iv) ย่อหน้าที่ 2 เป็นไปตามคู่มือทั่วไปของ EFSA ในการสำรวจความเสี่ยงทางสถิติและความเสี่ยงของศัตรูพืช ซึ่งรูปแบบการสำรวจและการสุ่มตัวอย่างนั้น จะต้องสามารถระบุการติดเชื้อของพืชได้ในระดับร้อยละ 1 ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในกรณีที่มีการตรวจพบสัญญาณของศัตรูพืชที่ระบุ มาตรการกำจัดจะต้องถูกนำมาใช้ทันทีเพื่อกู้คืนการปลอดศัตรูพืชในเขตกันชนดังกล่าว

                       ขนาดของตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบที่อ้างถึงในวรรคย่อย 1 ข้อ (b)(v) จะต้องสามารถตรวจพบการติดเชื้อได้ในระดับร้อยละ 1 และมีระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99% เป็นอย่างน้อย

                  (2) พืชที่ระบุที่นำเข้าไปยังอาณาเขตสหภาพยุโรป ตามวรรค 1 จะต้องถูกตรวจสอบ ณ จุดนำเข้าหรือจุดตรวจรับรอง

                       วิธีการตรวจสอบที่ใช้จะมุ่งไปที่การตรวจจับการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรากและลำต้น และรวมถึงการสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมาย ขนาดของตัวอย่างสำหรับการตรวจสอบจะต้องสามารถตรวจจับระดับการติดเชื้อได้อย่างน้อยร้อยละ 1 และมีระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 โดยคำนึงถึง ISPM No 31        

                   การสุ่มตัวอย่างแบบทำลายเป้าหมายที่อ้างถึงในมาตรานี้ จะต้องดำเนินการตามระดับที่กำหนดไว้ในตารางที่ปรากฏในภาคผนวก II                                          

            12) การรายงานมาตรการของประเทศสมาชิกฯ (มาตรา 13)

                 ภายในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี ประเทศสมาชิกฯ จะต้องจัดส่งรายงานมาตรการที่ปรับใช้ในปีก่อน และผลของการปรับใช้มาตรการดังกล่าว ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป และประเทศสมาชิกฯ อื่น ๆ ตามมาตรา 3 – 9

                 โดยจัดส่งผลการสำรวจตามมาตรา 8 และ 9 ให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป โดยใช้แบบฟอร์มตามภาคผนวก I                

13) การปฏิบัติตาม (มาตรา 14)

ประเทศสมาชิกฯ จะต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรการที่ปรับใช้ในการป้องกันประเทศของตนจากการปรากฎและการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ระบุ โดยประเทศสมาชิกฯ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรป ทราบทันทีเกี่ยวกับการยกเลิกหรือการแก้ไขมาตรการดังกล่าว

           14) การยกเลิก (มาตรา 15)

                 ยกเลิก Implementing Decision (EU) 2012/138/EU ยกเว้นมาตรา 2 มาตรา 3 และภาคผนวก I กำหนดให้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

           15) ภาคผนวก

                 (1) ภาคผนวก I แบบฟอร์มสำหรับรายงานผลการสำรวจประจำปีในพื้นที่ควบคุมที่ดำเนินการตามมาตรา 8 และมาตรา 9

                 (2) ภาคผนวก II ระดับของการสุ่มตัวอย่างแบบทำลาย (levels of destructive sampling)

        2. ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่31 ตุลาคม 2565) และกำหนดให้ปรับใช้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 อย่างก็ตาม ให้อนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดังนี้

             1) มาตรา 11 (ว่าด้วย การนำเข้าพืชที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่สาม ซึ่งไม่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ)และมาตรา 12 (ว่าด้วย การนำเข้าพืชที่ระบุที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศที่สามที่มีการปรากฎของศัตรูพืชที่ระบุ) ยกเว้น มาตรา 12(1) วรรคย่อยที่ 3 และ 4 ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

           2) มาตรา 4 (ว่าด้วย แผนฉุกเฉิน) ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

           3) ข้อกำหนดดังต่อไปนี้ ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

                  (ก) มาตรา 3(1) วรรคย่อย 2 (ว่าด้วย การสำรวจพืชอาศัยในอาณาเขตของประเทศสมาชิก)

                (ข) มาตรา 8(1) วรรคย่อย 4 (ว่าด้วย มาตรการกำจัด)

                  (ค) มาตรา 9(1) วรรคย่อย 5 (ว่าด้วย มาตรการกักกัน)

                  (ง) มาตรา 10(1) วรรคย่อย 4 (ว่าด้วย การเคลื่อนย้ายภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป)

                  (จ) มาตรา 12(1) วรรคย่อย 3 และ 4 (ว่าด้วย การนำเข้าพืชที่ระบุที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศที่สามที่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ)

        ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32022R2095&from=EN