free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปเตรียมเสนอให้ปรับเกณฑ์พิจารณาประเทศที่สามในกรณีทำประมงไม่ยั่งยืนในแหล่งประชากรปลาที่หลายประเทศมีผลประโยชน์ร่วม

สหภาพยุโรปเตรียมเสนอให้ปรับเกณฑ์พิจารณาประเทศที่สามในกรณีทำประมงไม่ยั่งยืนในแหล่งประชากรปลาที่หลายประเทศมีผลประโยชน์ร่วม

gray and silver school of fish underwater photography
Photo by Peter Simmons on Pexels.com

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 กรรมาธิการยุโรปด้านกิจการทางทะเลและประมง (DG MARE-Maritime Affairs and Fisheries) ได้แถลงเตรียมเสนอให้ปรับแก้เกณฑ์การพิจารณาประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศสมาชิก EU (non-EU countries) ในกรณีทำประมงไม่ยั่งยืน (unsustainable fishing practices) ในแหล่งประชากรปลาที่หลายประเทศมีผลประโยชน์ร่วม (common interest)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ภายใต้ Regulation (EU) 1026/2012 คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดมาตรการที่มีผลต่อประเทศที่สามในการทำการประมงไม่ยั่งยืนกับประชากรปลาที่มีผลประโยชน์ร่วมกับสหภาพยุโรป อาทิ การระบุรายชื่อประเทศที่ทำการประมงอย่างไม่ยั่งยืน การกำหนดมาตรการจำกัดเชิงปริมาณในการนำเข้าปลาจากแหล่งประชากรปลาที่หลายประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน  การระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงที่ทำจากปลาที่ละเมิดการจับ ซึ่งการปรับแก้เกณฑ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความสอดคล้องกับพันธกรณีสากล (UNCLOS, UNFSA) รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาความยั่งยืนในระยะยาวของปริมาณปลาที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ ลดปัญหาการทำประมงเกินขนาด (overfishing) ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ และการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง นอกจากนี้ เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปและในประเทศที่สาม
  2. ข้อเสนอ (proposal) ให้เพิ่มคำนิยามของคำว่า « ล้มเหลวในการให้ความร่วมมือ (failure to cooperate) » เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ว่าประเทศใดเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำประมงอย่างยั่งยืน  โดยคลอบคลุมถึงการไม่ปรับใช้มาตรการการจัดการประมง (fishery management measures) มาตรการควบคุมการอนุรักษ์ และการจัดการประชากรสัตว์น้ำที่มีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอ (proposal) ดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปในโอกาสแรก รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ ดังนี้
https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:52024PC0407