free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationแนวทางการใช้สารปราบศัตรูพืชภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป

แนวทางการใช้สารปราบศัตรูพืชภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป

Featured Image by Jagoda Kondratiuk on Unsplash

ด้วย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 กระทรวงสุขภาพและความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (DG SANTE) ได้จัด Informative session เกี่ยวกับแนวทางใช้สารปราบศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรป ผ่านระบบ VDO Conference สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวดังนี้

  1. สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาสารปราบศัตรูพืชและยาต้านจุลชีพในสัตว์ในอัตราร้อยละ 50 ภายในปี 2573 รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์และภาคเกษตรอินทรีย์ โดยสหภาพยุโรปต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่สาม เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารโลกที่มีความยั่งยืน (sustainable food system in the world) ในอนาคต
  2. การกำหนดค่าตกค้างสูงสุด (MRLs) ของสารปราบศัตรูพืช
    1. Regulation (EC) 396/2005 ได้กำหนดค่า MRls ของสารปราบศัตรูพืช เพื่อปกป้องผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกทางการค้า และในกรณีที่สารปราบศัตรูพืชนั้น ๆ ไม่ได้รับการกำหนดค่า หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ หรือมีความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คณะกรรมาธิการยุโรปจะกำหนดให้ค่าMRLs ของสารนั้น ๆ ไว้ที่ระดับต่ำสุด (default level) ที่ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือค่าต่ำสุดที่ตรวจได้ (Limit of Detection : LOD) โดยปัจจุบันร้อยละ 70 ของค่า MRLs ของสหภาพยุโรป จะเป็นการอ้างอิงจากมาตรฐาน Codex และร้อยละ 30 จะเป็นการกำหนดด้วยตนเองตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน Codex
    2. ในกรณีที่ประเทศที่สามไม่สามารถปฏิบัติตามค่า MRLs ที่กำหนดไว้ได้ ประเทศที่สามนั้น ๆ สามารถขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณากำหนดอนุโลมค่า MRLs ภายใต้ Import Tolerances ผ่านคำร้องจากการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAPs) และค่า MRLs ที่ได้รับอนุญาตในประเทศที่สามนั้น ๆ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะใช้ระยะเวลาพิจารณาคำร้องโดยเฉลี่ย 2 ปี ซึ่งครอบคลุมการประเมินความเสี่ยง โดยประเทศสมาชิกฯ และ EFSA รวมทั้งกระบวนการให้ความเห็นชอบของคณะมนตรียุโรปและรัฐสภายุโรป
    3. ระหว่างปี 2551 – 2561 สหภาพยุโรปได้รับคำร้อง Import Tolerances จำนวน 94 รายการ โดยอนุญาตแล้ว 80 รายการ และไม่อนุญาต 9 รายการ ขณะนี้ยังมีอีก 5 รายการ ที่อยู่ระหว่างการประเมิน
  3. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการกำหนดค่าตกค้างสูงสุด (MRLs) ของสารปราบศัตรูพืช ภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork Strategy
    1. การดำเนินงานภายในสหภาพยุโรป อาทิ
      1. ลดการใช้สารปราบศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงและที่เป็นอันตรายในอัตราร้อยละ 50 ภายในปี 2573
      2. สนับสนุนการจำหน่ายสารปราบศัตรูพืชที่มีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ชีวภาพ
      3. เพิ่มการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้สารปราบศัตรูพืช
      4. ลดกระบวนการ/ขั้นตอนการอนุญาตสารปราบศัตรูพืชที่กระทำโดยประเทศสมาชิก
      5. ส่งเสริมการกำหนดนโยบายบนฐานของความเป็นจริง (evidence-based policymaking)
    2. การดำเนินงานกับประเทศที่สาม อาทิ
      1. อาหารที่นำเข้าจากประเทศที่สามต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้อง
      2. สหภาพยุโรปจะพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารปราบศัตรูพืช (ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรป) ที่มีการยื่นขอ Import Tolerances โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานของ WTO
      3. สหภาพยุโรปจะพัฒนาแนวทางการแสดงข้อมูลฉลากสินค้า เพื่อรับรองว่าสินค้านำเข้าจากประเทศที่สามมีกระบวนการผลิตที่อย่างยั่งยืน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศ
      4. สหภาพยุโรปจะให้ความร่วมมือกับประเทศที่สามในการเปลี่ยนผ่าน (transition) ไปสู่การพัฒนาระบบอาหารและการปรับใช้สารปราบศัตรูพืชที่มีความยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต
  4. สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบายผลกระทบของสารปราบศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม และการยื่นคำร้อง Import Tolerances เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อโลกโดยรวม อาทิ การคุกคาม/ การสูญพันธุ์ของแมลงผสมเกสร (pollinators) การสะสมของสารตกค้าง สารสะสมทางชีวภาพ และสารพิษ ในสิ่งแวดล้อม อาทิ สารกลุ่ม PBT (Persistent, Bio-accumulative and Toxic) สารกลุ่ม vPvB (veryPersistent and very Bio-accumulative) และสารกลุ่ม POP (Persistent Organic Pollutants)
    • คณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบันมีแนวทางในการผลักดัน/เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาระบบอาหารที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่สาม ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับมาตรการจำกัดการใช้สารปราบศัตรูพืช การลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ รวมทั้งแนวทางการกำหนด Import Tolerances ของสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการส่งออก และเกษตรกรของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายและสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและอาหารของสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง