free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับเพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้าพืชจากประเทศที่สาม รวมทั้งประเทศไทย

สหภาพยุโรปปรับเพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้าพืชจากประเทศที่สาม รวมทั้งประเทศไทย

Featured Image by Maddi Bazzocco on Unsplash
  1. คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/608 ว่าด้วย การปรับแก้ไข Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 ในการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ใน EU Official Journal L 129/119 โดยมีรายละเอียดดังนี้
    1. การแก้ไข Implmenting Regulation (EU) 2019/1793 (มาตรา 1)
      1. แก้ไขมาตรา 11 (หนังสือรับรอง (official certificate)) ดังนี้
        1. อาหารและอาหารสัตว์ที่ระบุในภาคผนวก II จะต้องมีหนังสือรับรองฯ ตามแบบฟอร์มที่กำหนดในภาคผนวก IV (หนังสือรับรอง)
        2. หนังสือรับรองจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังนี้
          • หนังสือรับรองฯ จะต้องถูกออกให้โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศที่สามที่เป็นประเทศต้นกำเนิดของสินค้า (ประเทศผู้ผลิต) หรือประเทศผู้ส่งออก หากประเทศนั้นแตกต่างไปจากประเทศต้นกำเนิด
          • หนังสือรับรองฯ ต้องระบุรหัสเฉพาะ (identification code) ของสินค้าที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 9(1)
          • หนังสือรับรองฯ จะต้องลงลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และประทับตราทางการบนหนังสือรับรองฯ
          • นกรณีที่หนังสือรับรองฯ มีการระบุข้อความที่หลากหลาย (multiple or alternative statements) กำหนดให้ขีดฆ่าข้อความที่ไม่เกี่ยวข้อง/ไม่จำเป็น และทำการลงลายมือชื่อและประทับตรากำกับโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือกำหนดให้กำจัดข้อความดังกล่าวจากหนังสือรับรองฯ ออกไปทั้งหมด
          • หนังสือรับรองฯ จะต้องประกอบไปด้วย
            • กระดาษ 1 แผ่น
            • กระดาษหลายแผ่น ในกรณีที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งรวมกันเป็น 1 ฉบับ
            • ชุดกระดาษที่มีการระบุ/เรียงเลขหน้าเฉพาะในชุดกระดาษนั้น
          • ในกรณีที่หนังสือรับรองฯ มีลักษณะเป็นชุดตามข้อ (e)(iii) ของวรรคนี้ กำหนดให้แต่ละหน้าจะต้องระบุรหัสเฉพาะ (unique code) ตาม Regulation (EU) 2017/625 มาตรา 89(1)(a) รวมทั้งลงนามโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และทำการประทับตราทางการ
          • หนังสือรับรองฯ จะต้องยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ณ ด่านตรวจสอบ ที่เป็นด่านขาเข้า
          • หนังสือรับรองฯ จะต้องออกให้แก่สินค้านั้น ๆ ก่อนที่จะพ้นจากการควบคุมของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก (ที่เป็นผู้ออกหนังสือรับรองฯ)
          • หนังสือรับรองฯ ต้องเป็นภาษาราชการ หรือเป็นหนึ่งในภาษาราชการของประเทศสมาชิกฯ ณ ด่านตรวจสอบ ที่เป็นด่านขาเข้า
          • หนังสือรับรองจะต้องมีอายุไม่เกินกว่า 4 เดือน นับจากวันที่ออก และในทุกกรณีจะต้องมีอายุไม่เกินกว่า 6 เดือน นับจากวันที่ออกผลของห้องปฏิบัติการตามมาตรา 10(1)
        3. การยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ (i) วรรค 2 ประเทศสมาชิกฯ สามารถยอมรับหนังสือรับรองฯ ที่เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาของสหภาพยุโรปได้ และ (หากมีความจำเป็น) มีคำแปลที่ได้รับการรับรองความถูกต้องประกอบไปด้วย
        4. สีของลายมือชื่อและตราประทับจะต้องเป็นสีที่แตกต่างจากสีของตัวอักษรพิมพ์ ยกเว้นรอยนูนและเส้นลายน้ำที่ระบุในข้อ (c) วรรค 2
        5. ข้อ (c) ถึง (g) วรรค 2 และวรรค 4 จะไม่ปรับใช้กับหนังสือรับรองฯ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกตามข้อกำหนดใน Implementing Regulation (EU) 2019/1715 มาตรา 39(1)
        6. ข้อ (d) (e) และ (f) ในวรรค 21 ไม่ปรับใช้กับหนังสือรับรองฯ ที่อยู่ในรูปแบบกระดาษ ที่ถูกกรอกในและพิมพ์ออกจากระบบ TRACES
        7. หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักสามารถออกหนังสือรับรองทดแทน (a replacement official certificate) ตาม Commission Implementing Regulation (EU) 2020/2235 มาตรา 6
        8. หนังสือรับรองฯ จะต้องถูกกรอกให้ถูกต้องตามคำอธิบายในภาคผนวก IV
      2. การแก้ไขภาคผนวก
        1. แก้ไขภาคหนวก I II IIa และ IV ตามกฎระเบียบฉบับนี้ โดยสรุปดังนี้
          1. ภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว)
            • เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลาที่ระดับร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 20) ในพริกไทยดำ (Piper nigrum) จากบราซิล
            • เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 (จากเดิมร้อยละ 10) ในพริก (Capsicum) ที่ไม่ใช่พริกหวาน จากไทย (พริกสด พริกแช่เย็น และพริกแช่แข็ง)
            • เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 10) ในถั่วลิสง (groundnuts) จากอินเดีย
            • เพิ่มความเข้มงวดในการขยายการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จากเดิมเฉพาะในพริกหยวก (Capsicum annuum) ให้ครอบคลุมถึงพริกตระกูล Capsicum ทั้งหมดจากตุรกี
            • เพิ่มความเข้มงวดในการขยายการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จากเดิมเฉพาะในพริกหยวก (Capsicum annuum) ให้ครอบคลุมถึงพริกตระกูล Capsicum ทั้งหมดจากตุรกี
          2. ภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ)
            • กำหนดให้ถั่วลิสง (groundnuts) จากบราซิล จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณลดลง อย่างไรก็ดี กำหนดให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 10
            • กำหนดให้ถั่วลิสง (groundnuts) จากจีน จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณลดลง อย่างไรก็ดี กำหนดให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 10
            • กำหนดให้เฮเซลนัต (hazelnuts) จากตุรกี จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณลดลง อย่างไรก็ดี กำหนดให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 5
            • กำหนดอนุญาตให้อาหารที่มีส่วนประกอบหรือทำจากใบพลู (betel leaves) จากบังคลาเทศ สามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้อีกครั้ง โดยให้บรรจุอยู่ในภาคผนวก II และกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลาที่ระดับร้อยละ 50 (จากเดิมที่เคยถูกระงับการนำเข้าด้วยปัญหาการปนเปื้อนเชื้อซัลโมแนลลา มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557)
            • กำหนดให้เพิ่มรหัส CN ของเมล็ดงาคั่ว (roasted Sesamum seeds) ในรายการเมล็ดงา (Sesamum seeds) ตามตารางภาคผนวก I และ II
          3. ภาคผนวก IIa (บัญชีระงับการนำเข้า)
            • กำหนดระงับการนำเข้าถั่วแห้ง (dried bean) จากไนจีเรีย ด้วยปัญหาการตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปริมาณสูง
          4. ภาคผนวก IV แบบฟอร์มใบรับรอง ตาม Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 มาตรา 11
    2. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 15 เมษายน 2564) ยกเว้นมาตรา 1 ข้อ 1 (ว่าด้วย หนังสือรับรอง) ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32021R0608&from=EN