free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปออกข้อกำหนดพิเศษสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

สหภาพยุโรปออกข้อกำหนดพิเศษสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

Featured Image by Elle Hughes under Pexels license

คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Commission Delegated Regulation (EU) 2020/2146 ว่าด้วย การเสริม Regulation (EU) 2018/848 ว่าด้วย กฎระเบียบอินทรีย์ (ฉบับใหม่) ด้านข้อกำหนดพิเศษ (exceptional production rules) สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ใน EU Official Journal L 428/5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. การยอมรับต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ (recognition of catastrophic circumstrances) (มาตรา 1)
    1. ภายใต้วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดการผลิตพิเศษตาม Regulation (EU) 2018/848 มาตรา 22(1) การพิจารณากำหนดว่าสถานการณ์นั้น ๆ เข้าข่ายเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติอันเนื่องมาจาก ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ ‘โรคสัตว์”ภัยจากสิ่งแวดล้อม’ ‘ภัยธรรมชาติ’ หรือ ‘เหตุการณ์ภัยพิบัติ’ รวมทั้งสถานการณ์อื่นใดที่คล้ายคลึง จะต้องกระทำ/ประกาศโดยประเทศสมาชิกฯ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว
    2. การประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติตามมาตรา 1(1) ประเทศสมาชิกฯ จะต้องระบุพื้นที่เฉพาะหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ
  2. เงื่อนไขสำหรับการยกเว้น (conditions for derogations) (มาตรา 2)
    1. ภายหลังจากการปฏิบัติตามมาตรา 1 หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักสามารถให้การยกเว้นในมาตรา 3 ตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยต้องเป็นไปตามการยกเว้นและเงื่อนไขดังนี้
      • (ก) ในช่วงเวลาที่จำกัดและไม่นานเกินความจำเป็น (ไม่เกิน 12 เดือน) โดยจะต้องดำเนินการต่อหรือเริ่มการผลิตสินค้าอินทรีย์ใหม่อีกครั้ง ในลักษณ์เดียวกับก่อนวันที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว
      • (ข) เกี่ยวกับประเภทของการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ หรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และ
      • (ค) ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือเฉพาะผู้ประกอบการรายที่เกี่ยวข้อง (แล้วแต่กรณี)
    2. การปรับใช้การยกเว้นตามมาตรา 2(1) จะต้องไม่เป็นการตัดสิทธิต่อความถูกต้องของหนังสือรับรองตาม Regulation (EU) 2018/848 มาตรา 35 ในช่วงระหว่างที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับการยกเว้นนั้น ๆ
  3. การยกเว้นเฉพาะ (specific derogations) จาก Regulation (EU) 2018/848 (มาตรา 3)
    1. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ I ข้อ 1.8.1 การผลิตพืชและผลิตภัณฑ์พืช (นอกเหนือจากวัสดุขยายพันธุ์พืช) วัสดุขยายพันธุ์พืชที่ไม่ใช่อินทรีย์สามารถนำมาใช้ได้ ในกรณีที่การใช้วัสดุขยายพันธุ์พืชอินทรีย์หรือในช่วงปรับเปลี่ยน (in conversion) ไม่สามารถกระทำได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามภาคผนวก ส่วนที่ 1 ข้อ 1.8.5.3 และข้อ 1.7 ของกฎระเบียบดังกล่าว
    2. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.3.1 ในกรณีที่มีการตายของสัตว์ในอัตราสูงและไม่มีสัตว์เลี้ยงอินทรีย์ทดแทน ให้ฝูงสัตว์หรือกลุ่มสัตว์สามารถเปลี่ยนใหม่หรือเลี้ยงใหม่ โดยใช้สัตว์ที่ไม่ใช่อินทรีย์ได้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามช่วงเวลาการปรับเปลี่ยนที่กำหนดในภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.2.2 ปรับใช้มาตรา 3(1) โดยอนุโลม (mutatis mutandis) กับการผลิตผึ้งและแมลงอื่น ๆ
    3. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.4.1(b) ในกรณีที่มีการสูญเสียการผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์หรืออาหารที่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน หรือมีการจำกัดการผลิต ให้สัตว์สามารถถูกเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ที่ไม่ใช่อินทรีย์ได้
    4. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.4.2.1, 1.6.3 และ 1.6.4 ในกรณีที่หน่วยการผลิตของปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ ให้สามารถนำกฎระเบียบลำดับรองตามมาตรา 14(3) ของกฎระเบียบดังกล่าว นำมาปรับใช้ได้ สำหรับการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่อินทรีย์ ความหนาแน่นของสัตว์ในอาคาร และพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับพื้นที่ในร่มและกลางแจ้ง
    5. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.9.1.1(f) ในกรณีที่มีการสูญเสียการผลิตอาหารสัตว์หรือมีการจำกัดการผลิต ให้ร้อยละของวัตถุแห้งที่ประกอบด้วยอาหารหยาบ ฟางสดหรือแห้ง หรือหญ้าหมัก สำหรับสัตว์/วัน สามารถลดปริมาณลงได้ โดยจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านโภชนาการในแต่ละช่วงการพัฒนาการของสัตว์
    6. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.9.6.2(b) ในกรณีที่การอยู่รอดของอาณานิคมผึ้งถูกคุกคาม ด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากสภาพภูมิอากาศ ให้สามารถเลี้ยงผึ้งด้วยน้ำผึ้งอินทรีย์ เกสรอินทรีย์ น้ำเชื่อมอินทรีย์ หรือน้ำตาลอินทรีย์ได้
    7. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ II ข้อ 1.9.6.5(a) และ (c) ในกรณีที่การอยู่รอดของอาณานิคมผึ้งถูกคุกคาม สามารถเคลื่อนย้ายอาณานิคมดังกล่าวไปยังพื้นที่ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการเลี้ยงผึ้งได้
    8. การยกเว้นการปฏิบัติตาม Regulation (EU) 2018/848 ภาคผนวก II ส่วนที่ III ข้อ 3.1.2.1 (a) สต็อกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงสามารถเปลี่ยนใหม่หรือเลี้ยงขึ้นใหม่โดยใช้สัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่ไม่ใช่อินทรีย์ได้ ในกรณีที่มีการตายของสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่สูง และเมื่อไม่มีสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอินทรีย์ทดแทนได้ หากมีเงื่อนไขว่า ช่วงสองในสามของระยะเวลาวงจรการผลิตหลังนั้น ต้องอยู่ภายใต้การจัดการอินทรีย์
      • ในกรณีที่มีการตายของสัตว์น้ำในอัตราสูงและไม่มีสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอินทรีย์ทดแทน ให้สต็อกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงสามารถเปลี่ยนใหม่หรือเลี้ยงใหม่ โดยใช้สัตว์น้ำเพาะเลี้ยงที่ไม่ใช่อินทรีย์ได้ ซึ่งช่วงสองในสามของระยะเวลาวงจรการผลิตนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การจัดการอินทรีย์
    9. การยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบลำดับรองที่ปรับใช้ตาม Regulation (EU) 2018/848 มาตรา 24(9) และเงื่อนไขการใช้ผลิตภัณฑ์และสารที่ได้รับอนุญาตในการผลิตอินทรีย์ สำหรับกรณีที่สถานะด้านสุขอนามัยขององุ่นอินทรีย์ส่งผลให้ผู้ผลิตไวน์จำเป็นต้องใช้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายสามารถเทียบเคียง (comparable) ได้กับผลิตภัณฑ์ของปีก่อน ๆ กำหนดให้ผู้ผลิตไวน์สามารถใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในการผลิตไวน์ตามปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ใน Regulation (EU)2019/934 ภาคผนวก I ส่วน B
  4. การติดตามและการรายงานผล (monitoring and reporting) (มาตรา 4)
    1. ประเทศสมาชิกฯ จะต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกฯ อื่น ๆ ทราบอย่างทันท่วงทีต่อการยกเว้นที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักของตนตามกฎระเบียบนี้ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของคณะกรรมาธิการยุโรป
    2. ผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นจะต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นที่ได้รับ รวมทั้งเอกสารหลักฐานในการใช้การยกเว้นในช่วงเวลาดังกล่าว
    3. หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก หน่วยงาน Control Authorities หรือหน่วยงาน Control Bodies ในการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกฯ จะต้องตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตการยกเว้น
  5. ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้ https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32020R2146&from=EN