ด้วย สื่อออนไลน์ IHS Markit ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานสรุป กรณีล่าสุดสหภาพยุโรปตัดสินให้เดนมาร์กกระทำผิดกฎการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (The European Court of Justice) ได้มีคำตัดสินว่าเดนมาร์กกระทำการละเมิดกฎการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protection of Geographical Indications : GI) จากการที่อนุญาตให้โรงงานผู้ผลิตในเดนมาร์กผลิต-ส่งออกเนยแข็งเฟต้า (feta) ขัดต่อหลักแหล่งกำเนิดที่ได้รับการคุ้มครอง (Protected Designation of Origin : PDO) ของสหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปได้ขึ้นทะเบียนเนยแข็งเฟต้าให้เป็นสินค้า GI ของประเทศกรีซ ตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้ Regulation (EU) 1151/2012 ระบุว่าสินค้าดังกล่าวต้องผลิตจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฉพาะของประเทศกรีซ ได้แก่ เขต Macedonia เขต Thrace เขต Epirus เขต Thessaly เขต Lesvos เขต Limnos และเขต Agios Efstratios เท่านั้น โดยมีส่วนประกอบเป็นนมแกะไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และนมแพะไม่เกินร้อยละ 30
- การที่รัฐบาลเดนมาร์กมิได้มีการห้ามการผลิตและส่งออกเนยแข็งเฟต้า เนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบดังกล่าวครอบคลุมสินค้า GI ในสหภาพยุโรปและในประเทศที่สามที่มีข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีกับสหภาพยุโรป ตลอดจนโรงงานมีการผลิตเนยแข็งเฟต้าแล้วมาตั้งแต่ปี 2503 ก่อนที่กฎระเบียบ GI จะปรับใช้
- คณะกรรมาธิการยุโรปเคยแจ้งเตือนไปยังทางการเดนมาร์ก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ให้ระงับการผลิตและส่งออกเนยแข็งเฟต้าของโรงงานดังกล่าว ซึ่งจากการตัดสินคดีความในครั้งนี้ ส่งผลให้ทางการเดนมาร์กต้องสั่งระงับการผลิตและส่งออกเนยแข็งเฟต้าที่ถูกตัดสินว่าเป็นเนยแข็งเฟต้าปลอม (fake feta) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องและเสียค่าปรับในขั้นตอนต่อไป
สหภาพยุโรปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ของโลก มีนโยบายทางการค้าในการเป็นตลาดเดียวในด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ระบบหนึ่งที่สหภาพยุโรปนำมาใช้คือ การคุ้มครอง GI ให้แก่สินค้าเกษตร ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง GI สินค้าเกษตรและอาหาร 3 ฉบับ ได้แก่
สินค้าเกษตรและอาหาร Council Regulation (EC) No 510/2006 ณ วันที่ 20 มีนาคม 2549 และ Regulation (EU) No 1151/2012 ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555
ไวน์ Council Regulation (EC) No 479/2008 ณ วันที่ 29 เมษายน 2551
เครื่องดื่ม Regulation (EC) No 110/2008 ณ วันที่ 15 มกราคม 2551
นอกเหนือจากการมีกฎระเบียบคุ้มครองสินค้า GI อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สหภาพยุโรปยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้า GI ต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมสนับสนุนการบริโภคสินค้า GI โดยร่วมกับร้านอาหารสไตล์ยุโรปในประเทศไทยและประเทศที่สามอื่น ๆ ให้ใช้สินค้า GI ของสหภาพยุโรปปรุงอาหาร การจัดการฝึกอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในสหภาพยุโรปในการพัฒนาสินค้า GI เป็นต้น
ในส่วนของสินค้าเกษตรไทยมีสินค้าที่ได้รับ GI จากสหภาพยุโรปแล้ว 4 รายการ คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ปี 2556 กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ปี 2558 และ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ปี 2559)