free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeReportรายงานประจำปี 2563 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

รายงานประจำปี 2563 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

ปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกประสบกับวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีความเป็นอยู่ รวมถึงรูปแบบการติดต่อทางการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสหภาพยุโรปที่เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว

โดยจากการประเมินของสหภาพยุโรปพบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 ลดลงร้อยละ 6.8 เปรียบเทียบกับ 2562เมื่อพิจารณาปริมาณการค้าสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากไทยไปยังสหภาพยุโรป ในปี 2562 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 3,164 ล้านยูโร และในปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน 2563) มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างสหภาพยุโรปไม่รวมสหราชอาณาจักร มีมูลค่า 1,107 ล้านยูโร ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และ การที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้สถิติการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 ไม่รวมข้อมูลของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ดังกล่าวยังมีสินค้าหลายชนิดที่ไทยมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ไก่ปรุงสุก/ไก่แปรรูป ยางธรรมชาติ อาหารสุนัขและแมว ซอสปรุงรส เป็นต้น

ในปี 2563 ไทยและสหภาพยุโรปมีความคืบหน้าในการเปิดตลาดสินค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปได้ขึ้นทะเบียนให้ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่สามที่สามารถส่งออกแมลงเพื่อการบริโภคมายังสหภาพยุโรป โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างกระบวนการขออนุญาตเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลงกับสหภาพยุโรปตาม Regulation (EC) 2015/2283 ซึ่งสหภาพยุโรปจะทำการตรวจสอบ/ประเมินเอกสาร (dossier) และสหภาพยุโรปให้การรับรองผลการตรวจประเมินระบบการตรวจสอบควบคุมพืชและระบบการตรวจสอบควบคุมความปลอดภัยอาหารในสินค้าปศุสัตว์ว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทยเป็นไปได้โดยราบรื่น โดยประเทศไทยได้มีการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหภาพยุโรปหลายชนิด อาทิ เนื้อวัว (เบลเยียม) กีวี (กรีซและฝรั่งเศส) แอปเปิ้ล (เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี และเบลเยียม) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณี Brexit ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้มีการจัดทำร่างข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบและมาตรการนำเข้าของสหราชอาณาจักร แผนการจัดเก็บภาษีศุลกากร และการจัดสรรโควตาภาษีของ

สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป รวมทั้งหาโอกาสในการขยายส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และผู้ส่งออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ยังคงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยอาหาร คุณภาพและมาตรฐานสินค้า และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปจะมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคของสหภาพยุโรป