free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeTrending Newsรายงานผลการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป ประจำปี 2563

รายงานผลการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหารของสหภาพยุโรป ประจำปี 2563

Featured Image under Pexels license

ด้วย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 หน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) ได้เผยแพร่รายงานผลการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. จากรายงานผลการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2563 ของสหภาพยุโรปรายงานว่า ประเทศสมาชิก EU-27 ประเทศนอร์เวย์ และประเทศไอซ์แลนด์ ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าอาหารภายใต้โครงการ EU-coordinated control programme (EU MACP) และโครงการ National Control Programmes (MANCP) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับการสุ่มตรวจสินค้าอาหารในภาพรวมของสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบสถานการณ์ ข้อสรุป และข้อเสนอแนะจากการสุ่มตรวจ โดยอาจชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มประเภทของผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจเป็นเป้าหมายที่นำไปสู่การควบคุมอย่างเข้มงวดในอนาคต โดยสรุปได้ ดังนี้
    1. 1 โครงการ EU MACP : สุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าอาหาร เป็นจำนวน 88,141 รายการ โดยพบว่า สินค้าอาหารร้อยละ 94.9 พบปริมาณสารปราบศัตรูพืชตกค้าง (ครอบคลุมสารปราบศัตรูพืช จำนวน 659 ชนิด) ไม่เกินกว่าค่า MRLs ที่กำหนดไว้ และมีการตรวจพบสินค้าอาหารที่มีปริมาณสารปราบศัตรูพืชตกค้างเกินกว่าค่า MRLs ที่กำหนดร้อยละ 5.1 ซึ่งสูงกว่าการตรวจพบในปี 2562 (ร้อยละ 3.9)
    1. 2 โครงการ MANCP : สุ่มตรวจสินค้าอาหารที่มีความเสี่ยง 12 รายการ อาทิ แครอท ดอกกะหล่ำ กีวี หัวหอม ส้ม แพร์ แครอท มันฝรั่ง ถั่วแห้ง ข้าวกล้อง ข้าวไรย์ ตับวัว และไขมันสัตว์ปีก โดยสินค้าทั้ง 12 รายการจะถูกสุ่มตรวจหมุนเวียนไปทุกๆ 3 ปี โดยในปี 2563 พบว่า ร้อยละ 98.2 มีปริมาณสารปราบศัตรูพืชตกค้างอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยแยกเป็น (1) สินค้าที่ปลอดจากศัตรูพืช คิดเป็นร้อยละ 68.5 (สินค้าจำนวน 8,278 ตัวอย่าง) (2) สินค้าที่ตรวจพบสารปราบศัตรูพืชตกค้างในระดับต่ำหรือเท่ากับค่า MRLs ที่กำหนดไว้ คิดเป็นร้อยละ 29.7 (สินค้าจำนวน 3,590 ตัวอย่าง) (3) สินค้าที่ตรวจพบสารปราบศัตรูพืชตกค้างในปริมาณที่สูงกว่าค่า MRLs ที่กำหนดไว้ คิดเป็นร้อยละ 1.7 (สินค้าจำนวน 209 ตัวอย่าง) และ (4) สินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด คิดเป็นร้อยละ 0.9 (สินค้าจำนวน 113 ตัวอย่าง) ทั้งนี้ ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรปร้อยละ 60 สินค้าที่นำเข้าจากประเทศในยุโรปอื่นๆ ร้อยละ 22 สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ร้อยละ 14 และสินค้าที่ไม่สามารถระบุประเทศแหล่งที่มา ร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม ในรายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าสินค้าที่สุ่มตรวจเป็นสินค้านำเข้ามาจากแหล่งใด เนื่องจากการสุ่มตรวจเน้นรายงานในประเด็นสารปราบศัตรูพืชตกค้าง
  2. ทั้งนี้ จากผลการสุ่มตรวจดังกล่าวพบว่า ระดับของการตรวจพบสารปราบศัตรูพืชตกค้าง ไม่อยู่ในระดับที่ต้องกังวล เนื่องจากไม่ได้เกินกว่าค่าปริมาณการรับสัมผัสจากการบริโภค (dietary exposure) ที่กำหนดไว้ใน Health Based Guidance Values (HBGV) รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ https://www.efsa.europa.eu/en/news/pesticides-food-latest-report-published