free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeTrending Newsเป้าหมายสู่ความยั่งยืนในภาคเกษตรและอาหารของสหภาพยุโรป

เป้าหมายสู่ความยั่งยืนในภาคเกษตรและอาหารของสหภาพยุโรป

Featured Image by The Grand Cheese Master on Unsplash

ด้วยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 สื่อออนไลน์ IHS Markit ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง“เป้าหมายสู่ความยั่งยืน : ฤดูร้อนที่ผันผวนชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรและอาหาร” โดยได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบล่าสุดของสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่มีต่อเกษตรกร และ การปรับตัวของภาคเกษตรต่อนโยบายบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation) สภาพอากาศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ในปี 2564 โลกได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้วอีกครั้ง โดยคาดว่า ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตามนโยบายสภาพภูมิอากาศ (climate policy) เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดขึ้นในทุกทวีป อาทิ อุทกภัยทางประเทศยุโรปตะวันตก การขาดแคลนน้ำในสหรัฐอเมริกา ความแห้งแล้งในแอฟริกา และการเข้าฤดูหนาวก่อนกำหนดของอเมริกาใต้ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารได้รับผลกระทบ
  2. ภายหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งสหภาพยุโรปได้ลงนามใน The Paris Agreement ในปี 2558 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว) สหภาพยุโรปจึงออกนโยบาย European Green Deal เพี่อนำสหภาพยุโรปไปสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2593 และยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่มีเป้าหมายให้ภาคเกษตรปรับรูปแบบการผลิตให้เป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การทำฟาร์มคาร์บอน การบังคับการรายงานความยั่งยืนขององค์กรในสหภาพยุโรป และการให้รางวัลต่อผู้ผลิตที่ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (Common Agricultural Policy) ฉบับปี 2566-2570
  3. การปล่อยมลพิษในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain emission) ยังคงเป็นจุดอ่อนในการจัดการ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคเกษตรและอาหาร โดยผลการศึกษาพบว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหารประมาณ 75-90 % เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานยังคงต้องพึ่งพามาตรการและนโยบาย mitigation เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งประเด็นการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) (การถ่ายโอนสายการผลิตของผู้ประกอบการไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบด้านการปล่อยคาร์บอนที่เข้มงวดน้อยกว่า) ยังเป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
  4. ความยืดหยุ่น (resilient) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้าเกษตรที่มีความเหมาะสมกับมาตรการและวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น ต้นโกโก้จะทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น จึงควรกำหนดความมุ่งมั่นในการลดการตัดไม้ทำลายป่า (defining deforestation commitments)
  5. ส่งเสริมความหลากหลายของพืชให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ได้ทราบ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นและหลีกเลี่ยงการแสวงหาที่ดินในการปลูกโกโก้เพิ่ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโครงการริเริ่มต่าง ๆ อาทิ Global Roundtable for Sustainable Palm Oil/Global Roundtable for Sustainable Beef ที่องค์การสหประชาชาติให้ข้อมูลว่าการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซในภาคปศุสัตว์จะช่วยสภาพภูมิอากาศได้เร็วที่สุด
  6. ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตมักไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่ยั่งยืน เนื่องจากทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มสูงขึ้น หรือขาดแคลนทรัพยากรในการดำเนินการ ในขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต เช่น กรณีคลื่นความร้อนและภัยแล้งของยุโรปในปี 2561 ส่งผลให้การผลิตธัญพืชลดลงประมาณ 8% ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารสัตว์ในภาคปศุสัตว์และทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำบางรายสามารถรับมือกับต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยการสร้างผลกำไรผ่านการทำตลาดที่ยั่งยืน อาทิ การใส่ข้อความ “Net Zero Dairy” บนผลิตภัณฑ์นม หรือ “Deforestation-Free” (ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า) บนผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ซึ่งสร้างรายได้ที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และนำไปสู่โอกาสการสร้างตราสินค้าที่ให้ผลกำไร โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green minded consumers) ซึ่งเป็นตลาดใหม่และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา 

ประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork อันจะส่งผลให้ภาคธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศที่สามต้องเตรียมการเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืน และสร้างความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์ที่ “ยั่งยืน” ให้แก่สินค้าของตน ผ่านการติดฉลาก “ยั่งยืน” (sustainable branding)  หรือผ่านความร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในการรับรองระบบการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเพิ่มจุดขายและมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า นอกจากการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างตราสินค้าแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ควบคู่กับการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ดีจะช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่การผลิต