คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2024/3153 ว่าด้วย การปรับแก้ไข Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 ในการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ภายใต้ Regulation (EU) 2017/625 และ Regulation (EC) No 178/2002 ใน EU Official Journal L series โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) การแก้ไขภาคผนวก Implmenting Regulation (EU) 2019/1793 ในภาคผนวก I, และ II ตามกฎระเบียบฉบับนี้ โดยสรุปดังนี้
(1) ภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว):
ก) กำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในมะงั่ว (Citrus medica) จากบังคลาเทศ
ข) ยกเลิกมาตรการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชในถั่วฝักยาว (yardlong beans) จากสาธารณรัฐโดมินิกัน เนื่องจากสถิติผลการสุ่มตรวจเป็นที่น่าพอใจ
ค) ปรับลดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จากเดิมที่ระดับร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 ในส้ม (orange) จากอียิปต์
ง) กำหนดให้เมล็ดงา (Sesamum seeds) จากเอธิโอเปีย จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายมาอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณน้อยลง โดยอนุโลมให้เอธิโอเปียไม่ต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า เมล็ดงาปลอดจากเชื้อซัลโมแนลลา (Salmonella) เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า หากให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลา ที่ระดับร้อยละ 50 ในเมล็ดงาจากเอธิโอเปีย
จ) กำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 30 ในกระเจี๊ยบ (okra) และยี่หร่า (cumin seeds) จากอินเดีย
ฉ) กำหนดให้เทอร์นิพ (turnips) ปรุงแต่งหรือดอง (prepared or preserved) จากเลบานอน จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายมาอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณน้อยลง โดยอนุโลมให้เลบานอนไม่ต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า เทอร์นิพปลอดจากสาร Rhodamine B เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า หากให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสาร Rhodamine B ที่ระดับร้อยละ 50 ในเทอร์นิพจากเลบานอน
ช) กำหนดให้พริก (peppers of the genus Capsicum) จากศรีลังกา จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายมาอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณน้อยลง โดยอนุโลมให้ศรีลังกาไม่ต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า พริกปลอดจากสารอัลฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า หากให้คงความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซิน (Aflatoxins) ที่ระดับร้อยละ 50 ในพริกจากศรีลังกา
ซ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ที่ระดับร้อยละ 50 ในถั่ว ตาดำ (black-eyed beans: Vigna unguiculata) จากมาดากัสการ์
ฌ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ที่ระดับร้อยละ 30 ในพริก(peppers of the genus Capsicum) จากรวันดา
ญ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารไพร์โรลิซิดีน แอลคาลอยด์ (pyrrolizidine alkaloids) ที่ระดับร้อยละ 30 ในออริกาโนแห้ง (dried oregano) จากตุรกี
ฎ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ที่ระดับร้อยละ 20 ในทุเรียน (durian) จากเวียดนาม
ฏ) ปรับลดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) จากเดิมที่ระดับร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 ในเมล็ดงา (Sesamum seeds) จากอินเดีย
ฐ) ปรับลดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) จากเดิมที่ระดับร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ในอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของพืชจากอินเดีย ไม่ครอบคลุมกัวร์กัม (guar gum) ที่ใช้ในการผลิตอาหารเสริม
ฑ) สำหรับไทย คงมาตรการเดิม คือ กำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในพืช 2 รายการ ได้แก่
– พริก (Capsicum) ที่ไม่ใช่พริกหวาน (พริกสด พริกแช่เย็น และพริกแช่แข็ง) ที่ระดับร้อยละ 30
– เสาวรส (Passiflora ligularis/Passiflora edulis) (ผลสด) ที่ระดับร้อยละ 10
(2) ภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ):
ก) กำหนดให้ยี่หร่า (cumin seeds) จากตุรกีจากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ตุรกีต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า ปลอดจากสารไพร์โรลิซิดีน แอลคาลอยด์ (pyrrolizidine alkaloids) ตกค้าง เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารไพร์โรลิซิดีน แอลคาลอยด์ ที่ระดับร้อยละ 30
2) ผลบังคับใช้และช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม ๒๕๖7) อย่างไรก็ตาม อนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้กับยี่หร่า (cumin seeds) จากตุรกี ที่มีการส่งออกจากประเทศแหล่งกำเนิดหรือจากประเทศที่สามอื่นที่ไม่ใช่ประเทศแหล่งกำเนิด ก่อนที่กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ (ณ วันที่ 8 มกราคม 2568) ให้สามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ไปจนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2568 เป็นอย่างช้า โดยไม่ต้องมีผลการสุ่มตรวจวิเคราะห์แนบไปกับหนังสือรับรองฯ ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จาก QR code

Commission Implementing Regulation (EU) 2024/3153