free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปกำหนดแผนสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2567 – 2569

สหภาพยุโรปกำหนดแผนสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2567 – 2569

Featured Image by Raul Gonzalez Escobar on Unsplash

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2023/731 ว่าด้วย การกำหนดแผนสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหาร ประจำปี 2567 – 2569 ใน EU Official Journal L 95/28 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารประจำสหภาพยุโรป (EFSA) ได้รายงานผลการสุ่มตรวจหาสารปราบศัตรูพืชในสินค้าอาหารจากตัวอย่าง 683 รายการ ในสินค้าอาหาร 32 ชนิด โดยพบว่าอัตราการตรวจพบสารปราบศัตรูพืชตกค้างที่เกินค่าอนุโลมสูงสุด (Maximum Residue Levels : MRLs) อยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 1 โดยมีอัตราความคลาดเคลื่อนที่ร้อยละ 0.75 ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกฯ มีการสุ่มตรวจสารปราบศัตรูพืชตกค้างในสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2567 – 2569 เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีต่อผู้บริโภค โดยกำหนดชนิดของสินค้าและสารปราบศัตรูพืชที่ให้ดำเนินการสุ่มตรวจ รวมทั้งจัดสรรปริมาณการสุ่มตรวจระหว่างประเทศสมาชิกฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ โดยกำหนดการสุ่มตรวจขั้นต่ำอย่างน้อย 12 ตัวอย่าง/1 สินค้า/ปี

    2. ระหว่างปี 2567 – 2569 ประเทศสมาชิกฯ จะต้องสุ่มตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าสำหรับสารตกค้างครอบคลุมสารปราบศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังในสินค้าพืช จำนวน 195 ชนิด (อาทิ สาร Carbofuran สาร Chlorpyrifos สาร Dimethoate สาร Ethylene oxide สาร Glyphosate สาร Mepiquat  และสาร Omethoate)  และในสินค้าสัตว์ จำนวน 29 ชนิด (อาทิ สาร Copper Compounds สาร DDT และสาร Fipronil) ตาม Regulation (EU) 2023/731 ภาคผนวก 1

    3. สินค้าที่ต้องสุ่มตรวจ (แยกเป็นรายปี) มีดังนี้

        1) ปี 2567 : องุ่น กล้วย เกรฟฟรุ๊ต (ผลไม้ตระกูลส้ม) มะเขือ บรอกโคลี เมล่อน เห็ดจากการเพาะ พริกหวาน/พริกหยวก ข้าวสาลี น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ไขมันวัว ไข่ไก่

        2) ปี 2568 : แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี พีช (รวมถึงเนคทารีนและผลไม้พันธุ์ใกล้เคียง) ไวน์แดงหรือไวน์ขาว ผักสลัด กะหล่ำหัว มะเขือเทศ ผักโขม ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ นมวัว ไขมันหมู

        3) ปี 2569 : ส้ม แพร์ กีวี ดอกกะหล่ำ หัวหอม แครอท มันฝรั่ง ถั่ว (แห้ง) ข้าวไรย์ ข้าวกล้อง ไขมันสัตว์ปีก และตับวัว       

 4. สหภาพยุโรปได้จัดทำคู่มือ “Analytical quality control and validation procedures for pesticide residues analysis in food and feed” เพื่อให้ประเทศสมาชิกฯ ใช้ประกอบการดำเนินงานดังกล่าว โดยรายละเอียดของคู่มือฯ ปรากฎตามเว็บไซต์ ดังนี้ 

https://food.ec.europa.eu/system/files/2022-02/pesticides_mrl_guidelines_wrkdoc_2021-11312.pdf

    5. ในกรณีที่ประเทศสมาชิกฯ ตรวจพบสารปราบศัตรูพืชที่มีสารออกฤทธิ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ หรือตรวจพบเมทาบอไลต์ การเสื่อมสภาพ หรือปฏิกริยาใด ๆ ในสินค้า ให้ประเทศสมาชิกฯ นั้น ๆ แจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อทราบ                                             

6. การจัดส่งผลการตรวจประเมินสารปราบศัตรูพืชตกค้างฯ ของประเทศสมาชิกฯ จะต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด อาทิ Standard Sample Description version 2 (SSD2) และ Chemical Monitoring Reporting Guideline โดยวิธีและขั้นตอนการสุ่มตรวจสินค้าอาหารที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดคล้องกับข้อแนะนำของ Codex Alimentarius ตาม Directive 2002/63/EC

      7. คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้การสุ่มตรวจสารตกค้างในสินค้าทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Commission Delegated Regulation (EU) 2016/127 มาตรา 4 Commission Delegated Regulation (EU) 2016/128 มาตรา 3 Commission Directive 2006/125/EC มาตรา 7 และจะต้องเป็นไปตามชนิดของสารพิษตกค้างที่กำหนด (residue definitions) ตาม Regulation (EC) No 396/2005 โดยประเทศสมาชิกฯ จะต้องส่งผลการสุ่มตรวจประจำปีภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของปีถัดไป โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ EFSA

      8. ให้ยกเลิก Implementing Regulation (EU) 2022/741 อย่างไรก็ตาม การสุ่มตัวอย่างในการสุ่มตรวจสำหรับปี 2566 สามารถดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2567

  9.  กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32023R0731&from=EN