free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก ประจำปี 2564 - 2573

สหภาพยุโรปปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก ประจำปี 2564 – 2573

panoramic photography of green field
Photo by Ákos Szabó on Pexels.com

    คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Regulation (EU) 2023/857  ว่าด้วย การปรับแก้ไข Regulation (EU) 2018/842 เกี่ยวกับการปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก ประจำปี 2564 – 2573 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) และ Regulation (EU) 2018/1999 ว่าด้วย การกำกับดูแลด้านพลังงานและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรป ใน EU Official Journal L 111/1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ  Regulation (EU)  2018/842 ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 55 ให้ได้ภายในปี 2030 (เทียบกับในปี 2005) จึงเห็นควรกำหนดปริมาณการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ร้อยละ) ประจำปี 2564 – 2573 ของแต่ละประเทศสมาชิก 27  โดยพบว่า ปริมาณปรับลดอยู่ที่ระหว่างระดับร้อยละ – 10 ถึงร้อยละ – 50 และมอลตาได้รับการยืดหยุ่นให้สามารถยกเลิกปริมาณโควตาที่จำกัดของสหภาพยุโรป ที่ระดับร้อยละ 7

2. อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดข้ออนุโลม/ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

2.1) ในช่วงปี 2564 – 2568 ประเทศสมาชิกสามารถนำโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปีถัดมาใช้ได้ที่ระดับร้อยละ 7.5

2.2) หากประเทศสมาชิกใช้โควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปี 2564 คงเหลือไม่เกินร้อยละ 75 สามารถนำไปสมทบใช้กับโควตาของปีถัดๆ ไปได้จนถึงปี 2573

2.3) ในช่วงปี 2565 – 2572 ประเทศสมาชิกสามารถสะสมโควตาส่วนเกินที่ใช้ไม่หมดได้ร้อยละ 25 เพื่อนำไปใช้ในปีถัดๆ ไปได้จนถึงปี 2573

2.4) ในช่วงปี  2564  –  2568   ประเทศสมาชิกสามารถโอนถ่ายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีให้แก่ประเทศสมาชิกอื่นได้ถึงร้อยละ 10 และในช่วงปี 2569 – 2573  ประเทศสมาชิกสามารถโอนถ่ายโควตาฯ ได้ถึงร้อยละ 15

2.5) คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้งผลสรุปการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบภายในวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี (โดยแจ้งผลสรุปเบื้องต้นฯ ก่อนหน้าภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี) ซึ่งหากคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่า ประเทศสมาชิกใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ประเทศสมาชิกดังกล่าวจะต้องชี้แจงเหตุผลและนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น

3. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 26 เมษายน 2566) ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32023R0857