free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับแก้กฎระเบียบด้านการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม

สหภาพยุโรปปรับแก้กฎระเบียบด้านการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม

Featured Image by Karolina Grabowska under Pexels license
  1. คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/1900 ว่าด้วย การปรับแก้ไข Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 ในการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ภายใต้ Regulation (EU) 2017/625 และ Regulation (EC) No 178/2002 ใน EU Official Journal L 387/78 โดยมีรายละเอียดดังนี้

         1) การแก้ไข Implmenting Regulation (EU) 2019/1793

1.1 แก้ไขมาตรา 1 ข้อ (1)(b)(ii)  ดังนี้

« (ii) สินค้าอาหารที่ประกอบด้วยส่วนผสมตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ซึ่งประกอบด้วยอาหาร ตามรายการที่ปรากฏในตารางที่ 1 (Table 1) ของภาคผนวก II (Annex II) เนื่องจากความเสี่ยงของการปนเปื้อนอัลฟลาทอกซินในปริมาณที่มากกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์เดียวหรือผลิตภัณฑ์รวม และอยู่ภายใต้รหัส CN ที่กำหนดไว้ในตารางที่ 2 (Table 2) ของภาคผนวกดังกล่าว »

1.2 เพิ่มมาตรา 2(1) ข้อ (c) ดังนี้

« (c) ประเทศต้นกำเนิด หมายถึง

  • ประเทศที่เป็นต้นเกิดของสินค้า คือ ปลูก เก็บเกี่ยว หรือผลิต ซึ่งมีรายการอาหารและอาหารสัตว์ปรากฏในภาคผนวก เนื่องจากความเสี่ยงที่เป็นไปได้ของการปนเปื้อนสารไมโคทอกซิน  รวมถึงอัล ฟลาทอกซิน หรือสารพิษจากพืช หรือเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามระดับค่าตกค้างสูงสุดของสารกำจัดศัตรูพืชที่อนุญาต
  • ประเทศที่ผลิต (produced, manufactured) หรือบรรจุหีบห่อ โดยมีรายการอาหารและอาหารสัตว์ปรากฏในภาคผนวก เนื่องจากความเสี่ยงของการตรวจพบซัลโมเนลลาหรือจากสิ่งอันตรายอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ (i) »

         1.3 แก้ไขมาตรา 8 ข้อ 3 และ 4 ดังนี้

                « 3. อาหารที่ประกอบด้วยส่วนผสมตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปตามรายการในตารางที่ 2 (Table 2) ของภาคผนวก II (Annex II) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ตารางที่ 1 (Table 1) ของภาคผนวก II (Annex II) จะถูกตรวจสอบทางเอกสารและทางกายภาพที่ความถี่โดยรวมตามที่กำหนดไว้ในตารางที่ 1 ของภาคผนวก II สำหรับรายการนั้น

                   4. อาหารที่ประกอบด้วยส่วนผสมตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปตามรายการในตารางที่ 2 (Table 2) ของภาคผนวก II (Annex II) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลายรายการที่มีความอันตรายเดียวกัน (same hazard) ที่อยู่ภายใต้ตารางที่ 1 (Table 1) ของภาคผนวก II (Annex II) จะถูกตรวจสอบทางเอกสารและทางกายภาพที่ความถี่โดยรวมสูงสุด ตามที่กำหนดไว้ในตารางที่ 1 ของภาคผนวก II สำหรับรายการนั้น  »

                                                                                                         

         1.4 แก้ไขมาตรา 12 ดังนี้

               « การปรับแก้ไขภาคผนวกให้เป็นปัจจุบัน (updates to annexes)

                  คณะกรรมาธิการยุโรปจะทบทวนบัญชีรายชื่อที่ปรากฏในภาคผนวก I, II และ IIa อย่าง

เป็นประจำไม่เกินกว่า 6 เดือน เพื่อพิจารณาข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด »

         1.5 แก้ไขมาตรา 14 ดังนี้

               « ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน

                  อนุโลมให้สินค้าเมล็ดงา (Sesamum seeds) จากเอธิโอเปียและพริกจากศรีลังกาที่ไม่มีหนังสือรับรองและผลการสุ่มตรวจวิเคราะห์ประกอบ สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้จนถึงวันที่ 13 มกราคม 2565

  2) การแก้ไขภาคผนวก

             2.1  แก้ไขภาคผนวก I, II, IIa และ IV ตามกฎระเบียบฉบับนี้ โดยสรุปดังนี้

                   (1) ภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว)

                          ก) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในมะนาว ส้ม ส้มแมนดาริน ส้มคลีเมนไทน์ ส้มวิลคิงค์ และผลไม้จำพวกส้มและมะนาวพันธุ์ผสมคล้ายคลึง พริกหวาน และพริก สกุล Capsicum (นอกเหนือจากพริกหวาน) จากตุรกี

                        ข) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในถั่วลิสง (groundnuts) จากบราซิล

                        ค) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 50 ในขนุนจากมาเลเซีย

                        ง) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 50 ในพริก สกุล Capsicum (นอกเหนือจากพริกหวาน) จากยูกันดา

                        จ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจวิเคราะห์และตรวจหาสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในกระเจี๊ยบเขียว (okra) จากอินเดีย

                        ฉ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 20 ในถั่วลิสง (groundnuts) จากสหรัฐอเมริกา

                        ช) ปรับลดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 20 ในเฮเซลนัต (hazelnuts) และผลิตภัณฑ์จากเฮเซลนัต จากจอร์เจีย ให้เท่ากับระดับการสุ่มตรวจสินค้าชนิดเดียวกันจากตุรกีและอาร์เซอร์ไบจาน

                        ซ) สำหรับไทย คงมาตรการเดิม คือ กำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในพริก (Capsicum) ที่ไม่ใช่พริกหวาน จากไทย (พริกสด พริกแช่เย็น และพริกแช่แข็ง)         

                     (2) ภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ)

                         ก) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลาที่ระดับร้อยละ 50  ในเมล็ดงา (Sesamum seeds) จากซูดาน

                         ข) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 50 ในใบองุ่น จากตุรกี                                                                                                              

                        ค) ยกเลิกความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซิน ในถั่วพิสตาชิโอ จากสหรัฐอเมริกา

                        ง) กำหนดให้เมล็ดงา (Sesamum seeds) จากเอธิโอเปีย จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้เอธิโอเปียต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า ปลอดจากเชื้อซัลโมแนลลาในปริมาณสุ่มตรวจที่ระดับ 25 กรัม เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า

                        จ) กำหนดให้พริก สกุล Capsicum (พริกหวาน หรือนอกเหนือจากพริกหวาน) จากศรีลังกา จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ศรีลังกาต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า พริกปลอดจากอัลฟลาทอกซินในปริมาณ MLs ที่กำหนด เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า

                        ฉ) กำหนดให้เพิ่มรหัส CN ของถั่วลิสง (groundnuts) ให้รวมถึงถั่วผสม (including mixtures) ในรายการถั่วลิสง ตามตาราง I ภาคผนวก II      

                        (3) ภาคผนวก IIa (บัญชีระงับการนำเข้า)

                             ก) ระงับการนำเข้าถั่วแห้ง (dried beans) จากไนจีเรีย เนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง

                        (4) ภาคผนวก IV

                             ปรับแก้แบบฟอร์มหนังสือรับรองในการส่งออกสินค้าที่มีรายชื่อในภาคผนวก II ภายใต้ Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 มาตรา 11

    2. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564) ยกเว้นมาตรการที่มีต่อเมล็ดงา (Sesamum seeds) จากเอธิโอเปียและพริกจากศรีลังกา ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32021R1900&from=EN