free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักรเตือนราคาตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น

ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักรเตือนราคาตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น

chicken meat on white ceramic plate
Photo by Olya Kobruseva on Pexels.com

ด้วยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 สื่อออนไลน์ IHS Markit ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง “ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักรเตือนราคาตลาดพุ่งสูง” โดยเป็นความเห็นของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร (Ms. Ranjit Singh Boparan) ต่อตลาดสินค้าเนื้อสัตว์ปีกในสหราชอาณาจักร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ปัญหาเงินเฟ้อกำลังทำลายโครงสร้างพื้นฐานของห่วงโซ่อุปทานของภาคอาหาร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ตามยุทธศาสตร์ “Farm to Fork” ราคาเนื้อสัตว์ปีกที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานท้องถิ่น อุตสาหกรรมต้องปรับตัวเข้ากับปัญหาห่วงโซ่อุปทานและความท้าทาย ผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ปีกมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ สหราชอาณาจักร (UK) กำลังเผชิญกับ
    ‘การรีเซ็ตอาหารครั้งใหญ่ (Great Food Reset)’ เพราะปัญหาอัตราเงินเฟ้อและการขาดแรงงาน ภาคผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกจึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลต้องกำหนดราคาเนื้อสัตว์ปีกที่โปร่งใสและเป็นธรรม   
  2. ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้เรียกร้องให้รัฐบาล UK ให้ความช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนแรงงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาล UK ได้ช่วยเหลือด้วยการอนุมัติวีซ่าชั่วคราวสำหรับคนงานสัตว์ปีกมากถึง 5,500 คน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้แต่งตั้งเซอร์ เดวิด ลูอิส อดีตซีอีโอของเทสโก้ UK ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านห่วงโซ่อุปทานของรัฐบาล เพื่อจัดการกับปัญหาในเรื่องห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกมองว่า รัฐบาล UK อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมทั้งหมดได้เพียงลำพังหรือสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารได้ ดังนั้น ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกและผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งอาจเป็นการเพิ่มต้นทุน อาทิ การลงทุนเพื่อเพิ่มระบบอัตโนมัติในการผลิต และการว่าจ้างพนักงานใหม่มากขึ้นในระยะยาว
  3. ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเนื้อสัตว์ปีก อาทิ
    • ด้านการผลิต – ต้นทุนการผลิตฟาร์มเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น จากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 15% อย่างต่อเนื่อง สินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 20% อาหารเสริมสำหรับสัตว์ ขี้เลื่อยไม้สำหรับรองให้สัตว์ (litter) น้ำยาฆ่าเชื้อ ค่าสัตวแพทย์ และค่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 15% ในเวลา 1 ปี
    • ด้านคมนาคม – ปัญหาการขาดแคลนคนขับยานพาหนะสินค้าหนัก HGV (Heavy Goods Vehicles) ได้จุดชนวนให้เกิดอัตราเงินเฟ้อในภาคการขนส่ง ประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
    • ด้านพลังงาน – ฟาร์มสัตว์ปีกกำลังเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 450-550% หากเทียบกับปีที่ผ่านมาส่งผลต่อการแปรรูปสัตว์ปีกและบรรจุภัณฑ์ ราคาของคาร์บอนไดออกไซต์ (ที่ใช้ทำให้ไก่สลบก่อนเชือด) เพิ่มขึ้น 4-500% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
    • ด้านบรรจุภัณฑ์ – ต้นทุนบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น กระดาษแข็งและฟอยล์อลูมิเนียมมีราคาสูงเพิ่มขึ้น 20% ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

ภายหลัง Brexit สหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  ซึ่งส่งผลสืบเนื่องไปถึงการขนส่งและการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม สร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น