ถือเป็นข่าวดีก้าวแรกของไทย ที่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2020/1572 โดยได้ขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่สามที่สามารถส่งออกแมลงเพื่อการบริโภคไปยังสหภาพยุโรป และให้บรรจุอยู่ใน Commission Implementing Regulation (EU) 2019/626 ภาคผนวก IIIa และให้มีผลบังคับใช้ 3 วันหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2563) ในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล เพื่อยื่นขอเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดกับสหภาพยุโรปตาม Regulation (EC) 2015/2283 ต่อไป
การนำผลิตภัณฑ์แมลงเพื่อการบริโภคเข้ามาจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปมีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ 2 ขั้นตอนหลัก คือ
- การขอขึ้นทะเบียนเป็นประเทศที่สามที่สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่กำหนด – ซึ่งสหภาพยุโรปได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สาม ที่สามารถส่งออกแมลงเพื่อการบริโภคไปยังสหภาพยุโรปได้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
- การยื่นคำร้องเปิดตลาดอาหารใหม่ (Novel Food) – หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องจัดเตรียมข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นขออนุญาตเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลงกับสหภาพยุโรปตาม Regulation (EC) 2015/2283 ซึ่งสหภาพยุโรปจะทำการตรวจสอบ/ประเมินเอกสาร (dossier) ซึ่งครอบคลุมประเด็นเทคนิคต่าง ๆ อาทิ คุณลักษณะของสินค้า กระบวนการผลิต ส่วนประกอบของสินค้า ข้อมูลความปลอดภัยอาหารต่อผู้บริโภค หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลการก่อให้เกิดภูมิแพ้และความเป็นพิษ เงื่อนไขการใช้งาน และข้อกำหนดเฉพาะ โดยกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาประมาณ 8 – 18 เดือน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูลประกอบคำร้อง