free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้างและได้รับอนุญาตให้ส่งออก

สหภาพยุโรปปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้างและได้รับอนุญาตให้ส่งออก

brown eggs on brown wooden bowl on beige knit textile
Photo by Pixabay on Pexels.com

    คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Decision (EU) 2022/1390 ว่าด้วย การปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้างและได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ใน EU Official Journal L 138/1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารตกค้างไปยังสหภาพยุโรป โดยประเทศที่สามจะต้องดำเนินการส่งมอบรายงานการควบคุมการตรวจสารตกค้างประจำปี ตามเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปกำหนดใน Council Directive 96/23/EC มาตราที่ 29(1) และ (2) และผ่านการพิจารณาให้อยู่ในบัญชีรายชื่อในภาคผนวกของ Decision 2011/163/EU

    2. ในส่วนของประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีก (poultry) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพาะเลี้ยง (aquaculture) ครอบคลุมปลา ครัชเตเชียน มอลลัส และผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง (honey) (X) รวมถึงได้รับอนุญาตให้ใช้ส่วนประกอบที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์จากประเทศสมาชิกฯ หรือประเทศที่สามอื่นที่ได้รับการรับรองแล้วในสินค้าคอมโพสิต (O) ซึ่งครอบคลุมนม หมู และวัว ซึ่งเป็นรายการสินค้าเดิมที่ได้รับอนุญาต โดยในครั้งนี้ สหภาพยุโรปได้อนุมัติให้ไทยสามารถใช้ไข่จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือไข่จากประเทศที่สามอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ (products) ของไทย (อาทิ กุ้งดิบชุบไข่) เพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ (เดิมอนุญาตให้ใช้ได้แต่ในเฉพาะสินค้าคอมโพสิตเท่านั้น) โดยให้คำนิยามในการอนุญาตดังกล่าวว่าเป็น การค้าไตรภาคี (triangular trade ∆) ซึ่งครอบคลุม 3 ฝ่าย ได้แก่ ประเทศผู้ผลิต ประเทศผู้ส่งออก และประเทศผู้นำเข้า

    3. ในส่วนของประเทศที่สามอื่นๆ สรุปดังนี้

        1) ออสเตรเลีย บังคลาเทศ บราซิล แคนาดา จีน โคลัมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ศรีลังกา มาดากัสการ์ มาเลเซีย เมียนมาร์ เม็กซิโก ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย ไทย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง

        2) แอลบาเนีย อาร์เมเนีย อาร์เจนตินา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เบลารุส สวิตเซอร์แลนด์ ชิลี หมู่เกาะฟอลก์แลนด์ หมู่เกาะแฟโร สหราชอาณาจักร เกาะแมน อิสราเอล ญี่ปุ่น เคนยา โมร็อกโก มอลโดวา มอนเตเนโกร มาซิโดเนียเหนือ มอริเชียส นิวซีแลนด์ เซอร์เบีย สิงคโปร์ ตูนิเซีย ตุรกี ยูเครน และอุรุกวัย

ได้รับอนุญาตให้ส่งออกปลา (finfish)

        3) บรูไน เบลิซ คิวบา กัวเตมาลา โมซัมบิก นิวแคลิโดเนีย ไนจีเรีย นิการากัว แทนซาเนีย และเวเนซูเอลา ได้รับอนุญาตให้ส่งออกครัสเตเชียน

        4) อิหร่านได้รับอนุญาตให้ส่งออกไข่ปลา (roes) คาเวียร์ และครัสเตเชียน

        5) แอนดอรา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โคลัมเบีย สหราชอาณาจักร ฮ่องกง โมร็อกโก เม็กซิโก มาเลเซีย สิงคโปร์ ซานมารีโน ไทย และคอซอวอ ได้รับอนุญาตให้อยู่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสัตว์และสินค้าจากสัตว์ภายใต้การค้าไตรภาคี (triangular trade ∆)

        6) ออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ชิลี สหราชอาณาจักร เกิร์นซีย์ กรีนแลนด์ เกาะแมน จาไมก้า เจอร์ซีย์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โมร็อกโก นิวซีแลนด์ เปรู ไทย ตูนิเซีย ตุรกี ยูเครน สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย และเวียดนาม ได้รับอนุญาตให้ส่งออกมอลลัส (M) มีชีวิต แช่เย็น และแช่แข็ง (ได้แก่ หอยสองฝา เอคไคโนเดิร์ม ยูโรคอร์ดาตา และหอยฝาเดียว)

        7) แอนดอรา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลบาเนีย อาร์เมเนีย อาร์เจนตินา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา    บังคลาเทศ บรูไน บราซิล บอตสวานา เบลารุส เบลิซ จีน  โคลัมเบีย คอสตาริกา คิวบา เอกวาดอร์ เกาะฟอลก์แลนด์ หมู่เกาะแฟโร กัวเตมาลา ฮ่องกง ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย อิสราเอล อินเดีย อิหร่าน เคนยา ศรีลังกา มอลโดวา มอนเตเนโกร มาดากัสการ์ มาซิโดเนียเหนือ เมียนมาร์ มอริเซียส เม็กซิโก มาเลเซีย โมซัมบิก นามิเบีย                 นิวแคลิโดเนีย ไนจีเรีย นิการากัว ปานามา  ฟิลิปปินส์ แซ็งปีแยร์และมีเกอลง ปารากวัย เซอร์เบีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ ซานมารีโน เอสวาตินี ไต้หวัน แทนซาเนีย เวเนซุเอลา และแอฟริกาใต้ ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าคอมโพสิตที่มีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมอลลัสจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือจากประเทศที่สามอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป (P)

        8) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับอนุญาตให้ส่งออกน้ำผึ้ง เฉพาะจากเขต Ras al Khaimah เท่านั้น

        9) ชิลิและกรีนแลนด์ไม่ประสงค์ส่งออกเนื้อแพะอีกต่อไป หากยังคงมีการส่งออกเนื้อแกะไปยังสหภาพยุโรป

        10) เกิร์นซีย์ไม่ประสงค์ส่งออกเนื้อวัวอีกต่อไป หากยังคงมีการส่งออกนมวัวไปยังสหภาพยุโรป

        11) สิงคโปร์เฉกเช่นเดียวกับไทยได้รับอนุญาตภายใต้การค้าไตรภาคี (triangular trade ; ∆) ให้ใช้ไข่จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือไข่จากประเทศที่สามอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ (products) เพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ (เดิมอนุญาตให้ใช้ได้แต่ในเฉพาะสินค้าคอมโพสิตเท่านั้น)

        12) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และศรีลังกาได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าคอมโพสิตที่มีส่วนประกอบของนมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือจากประเทศที่สามอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป (O)

        13) มาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าคอมโพสิตที่มีส่วนประกอบของไข่และนมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือจากประเทศที่สามอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป (O)

        14) เซียร์ราลีโอนไม่ได้ส่งมอบรายงานการควบคุมการปนเปื้อนของสารตกค้างในน้ำผึ้ง และยูกันดาไม่ได้ส่งมอบรายงานการควบคุมการปนเปื้อนของสารตกค้างในสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง จึงไม่ให้ได้รับอนุญาตในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปอีกต่อไป            

    4. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2565) ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32022D1390&from=EN