free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้าง

สหภาพยุโรปปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้าง

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Decision (EU) 2022/367 ว่าด้วย การปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่สามที่ปลอดสารตกค้างและได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ใน EU Official Journal L 69/107 โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ปรับปรุงแก้ไขบัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารตกค้างไปยังสหภาพยุโรป โดยประเทศที่สามจะต้องดำเนินการส่งมอบรายงานการควบคุมการตรวจสารตกค้างประจำปี ตามเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปกำหนดใน Council Directive 96/23/EC มาตราที่ 29(1) และ (2) และผ่านการพิจารณาให้อยู่ในบัญชีรายชื่อในภาคผนวกของ Decision 2011/163/EU

    2. ในส่วนของประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีก (poultry) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพาะเลี้ยง (aquaculture) ครอบคลุมปลา ครัชเตเชียน มอลลัส และผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง (honey) ซึ่งเป็นรายการสินค้าเดิมที่ได้รับอนุญาต (X) รวมถึงได้รับอนุญาตให้ใช้ส่วนประกอบที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์จากประเทศสมาชิกฯ หรือประเทศที่สามอื่นที่ได้รับการรับรองแล้วในสินค้าคอมโพสิต (X (2a)) ซึ่งครอบคลุมนม ไข่ หมู และวัว (นอกเหนือจากที่ไทยได้รับอนุญาตอยู่แล้ว ได้แก่ สินค้าสัตว์ปีก สินค้าประมง และน้ำผึ้ง)

    3. ในส่วนของประเทศที่สามอื่นๆ สรุปดังนี้

        1) Commission Implementing Decision (EU) 2021/2315 ได้กำหนดแยกประเภทสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง (aquaculture) ในภาคผนวก Decision 2011/163/EU  ออกเป็น 4 ประเภทย่อย ดังนี้ (1) ปลา (2) ผลิตภัณฑ์จากปลา (อาทิ คาเวียร์) (3) ครัชเตเชียน และ (4) มอลลัส (อาทิ หอยสองฝา เอคไคโนเดิร์ม ยูโรคอร์ดาตา และหอยฝาเดียว) เพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือรับรองฯ ที่ปรากฏใน Commission Implementing Regulation (EU) 2020/2235 และรายชื่อประเทศที่สามที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปในภาคผนวก VIII และภาคผนวก IX Commission Implementing Regulation (EU) 2021/405 คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นควรให้ปรับเปลี่ยนประเภท « ผลิตภัณฑ์จากปลา » ใหม่เป็น « คาเวียร์ (ผลิตภัณฑ์จากปลา) » แทน ทั้งนี้ ครอบคลุมการส่งออกคาเวียร์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงของประเทศเบลารุส แคนาดา จีน อิสราเอล มอลโดวา สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำเพาะเลี้ยง โดยผลรายงานการควบคุมการปนเปื้อนของสารตกค้างในสินค้าดังกล่าวเป็นที่พอใจ จึงให้ได้รับอนุญาตส่งออกคาเวียร์ไปยังสหภาพยุโรปได้

        2) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่ได้ส่งมอบรายงานการควบคุมการปนเปื้อนของสารตกค้างในปลา (finfish) อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ให้หลักประกันในการขอใช้ปลาจากประเทศสมาชิกฯ หรือจากประเทศที่สามอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป โดยให้เพิ่มการส่งออกคาเวียร์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์      

    4. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32022D0367&from=EN