free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeUncategorizedสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงการค้าแล้ว

สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงการค้าแล้ว

Featured Image by Pete Linforth under Pixabay license

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นาง Ursula von der Leyen (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป) ได้ออกแถลงการณ์ถึงข้อยุติร่วมต่อร่าง ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร (EU-UK Trade and Cooperation Agreement) หลังจาก ที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาหารือในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยร่างข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป กับสหราชอาณาจักร ครอบคลุม 3 เสาหลัก (main pillars) ดังนี้

  1. ข้อตกลงการค้าเสรี ครอบคลุมการค้าสินค้า การบริการ การลงทุน การแข่งขัน ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ความโปร่งใสด้านการจัดเก็บภาษี การขนส่ง พลังงานและความยั่งยืน และการประมง โดยมีมาตรการต่าง ๆ อาทิ
    1. รับรองสิทธิด้านการค้าสินค้าที่ปลอดภาษี (zero tariffs) และโควตาการนำเข้า (zero quotas) โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (rules of origin)
    2. ส่งเสริมการแข่งขันอย่างยุติธรรม (level playing field) โดยรักษาระดับความเข้มงวด (high levels) ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การปกป้อง/รักษาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ สิทธิแรงงาน รวมทั้งการอุดหนุนของภาครัฐ
    3. คุ้มครองสิทธิและกิจกรรมด้านการประมงของทั้งสองฝ่าย ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการจัดการปริมาณสัตว์น้ำ (fish stocks) ในน่านน้ำของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร โดยมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 5.5 ปี
    4. รักษาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ ภายใต้หลักการการแข่งขันอย่างยุติธรรม เพื่อไม่เป็นการริดรอน สิทธิของผู้โดยสารและแรงงาน รวมทั้งความปลอดภัยด้านการขนส่ง
    5. รับรองการค้าพลังงานที่เป็นธรรมและโปร่งใส มาตรฐานด้านความปลอดภัยนอกชายฝั่ง และการผลิตพลังงานทดแทน
    6. สหราชอาณาจักรสามารถมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป สำหรับปี 2564-2570
  2. การปกป้องประชาชน ความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ กฎหมายอาชญากรรม และประมวลกฎหมาย (civil law)
  3. การปกครอง กำหนดแนวทางการดำเนินงานและการควบคุมข้อตกลงฯ รวมทั้งกลไกการระงับข้อพิพาท
    • เนื่องจากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของสหราชอาณาจักรต่อการถอนตัวออกจากการเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และร่างข้อตกลงฯ จำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป จึงเห็นควรเสนอให้ร่างข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยสภายุโรป อาจมีการจัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบต่อร่างข้อตกลงฯ (ย้อนหลัง) ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ในขณะที่สหราชอาณาจักรจะมีการนำเสนอ ในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพื่อให้ความเป็นชอบต่อร่างข้อตกลงฯ ต่อไป