free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeActivityรายงานผลการสัมมนา « ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm-to-Fork Strategy) »

รายงานผลการสัมมนา « ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm-to-Fork Strategy) »

ด้วย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นายพรเทพ ศรีธนาธร ผู้อำนวยการ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการบรรยาย ณ งานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ « จับตากระแส European Green Deal ประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องรู้ EP. 3 ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm-to-Fork Strategy)  » ผ่านระบบ Zoom meeting และ Facebook live ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภาคเอกชน ผู้ส่งออก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 ราย สรุปสาระสำคัญของการสัมมนาดังกล่าวดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ F2F : นายพรเทพ ศรีธนาธร ผู้อำนวยการ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้นำเสนอภาพรวมของยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหารของสหภาพยุโรป (Farm-to-Fork Strategy : F2F) ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศและเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2563 – 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำพาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรยุโรป โดยนโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ดังนั้น ยุทธศาสตร์ F2F จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศในอีก 30 ปีข้างหน้า ที่จะนำทางให้ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปต้องปรับตัว จากเดิมที่เน้นความปลอดภัยอาหาร ก็จะผนวกประเด็นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม อาทิ กำหนดเป้าหมายลดการพึ่งพาสารปราบศัตรูพืชและยาต้านจุลชีพในสัตว์ในอัตราร้อยละ 50 ลดการใช้ปุ๋ยร้อยละ 20 ภายในปี 2573 รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ และเพิ่มการทำเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 25 โดยผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อาหารตลอดกระบวนการผลิต เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยในอนาคต คาดว่า สหภาพยุโรปจะสร้างความร่วมมือ/เจรจาการค้ากับประเทศที่สาม โดยมีแนวทางความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ซึ่งไทยต้องเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าในอนาคต

 2. ภาคพืช : ผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอแนวทางการผลิตพืชของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ F2F ในประเด็นของการมุ่งเน้นการเพาะปลูกที่ยั่งยืน ลดการใช้สารเคมี (ทบทวน/ไม่อนุญาตสาร PPPs การนำเข้า/ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย  และลด ละ เลิกการใช้สารเคมีอันตราย) สนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยชีวภาพ พัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง ให้ความรู้แก่เกษตรกร ส่งเสริมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมในสินค้าพืชให้ได้มาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยเฉพาะการปรับลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ดี   โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตามนโยบายของ Food Safety ของสหภาพยุโรปแล้วมาตั้งแต่ปี 2541 โดยเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองปัจจัยการผลิต รับรองฟาร์มเพาะปลูก แหล่งผลิต และโรงงานประกอบการ เพื่อการส่งออกสินค้าพืชไปยังสหภาพยุโรป

3. ภาคประมง : ผู้แทนจากกรมประมง ได้นำเสนอแนวทางการผลิตสินค้าประมงของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ F2F ในประเด็นของการปฏิบัติตามข้อกำหนดความปลอดภัยอาหารของสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2537 – 2538 การส่งเสริมฟาร์ม GAP ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การสนับสนุนให้ทำฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ การสนับสนุนให้ลดการใช้ยาและสารเคมีอันตราย โดยสนับสนุนให้ใช้จุลินทรีย์บำบัดแทน โดยกรมประมงได้จัดทำแผนเฝ้าระวังสารตกค้างให้แก่สหภาพยุโรปทราบทุกปี และกรมประมงเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลฟาร์มส่งออกต้องได้มาตรฐาน GAP โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำต้องได้มาตรฐาน GMP, HACCP มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ หากเป็นการจับจากธรรมชาติ ต้องมี log book ปริมาณการจับสัตว์น้ำผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ ปัจจุบันกรมประมงเข้มงวดไม่ให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงปล่อยน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้พลังงานทดแทน และส่งเสริมการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 4. ภาคปศุสัตว์ : ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ได้นำเสนอแนวทางการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของไทยเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ F2F ในประเด็นความพร้อมของกรมปศุสัตว์ในระบบการควบคุมการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่ อาทิ การควบคุมยาที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ สารเคมีตามพรบ. วัตถุอันตราย ควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพตามแนวทางของ OIE ส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล สนับสนุนการใช้สมุนไพรและสารโพรไบโอติก ห้ามใช้ยาเร่งการเจริญเติบโต การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ที่ฟาร์ม การฆ่า การขนส่ง การตัดแต่งเนื้อสัตว์ การแปรรูป การนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ ไข่ฟัก น้ำเชื้อ มีระบบมาตรฐานฟาร์ม และมีสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ประจำฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมฯ ซึ่งดูแลการฉีดวัคซีน การตรวจโรค การเก็บตัวอย่าง และตรวจสอบมาตรฐานฟาร์ม-โรงงาน GMP, HACCP และสวัสดิภาพสัตว์ (มีเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ประจำโรงงานที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป) โดยกรมปศุสัตว์ใช้ระบบ E-movement ในการเคลื่อนย้ายสัตว์  โดยขณะนี้ มีโรงงานเนื้อสัตว์ปีกของไทย 1 รายที่ริเริ่มเข้าระบบการผลิตที่ยั่งยืนด้วยแล้ว

5. ข้อสรุป : ในภาพรวม ภาคธุรกิจสินค้าเกษตร-อาหารของไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้ยุทธศาสตร์ F2F ที่อาจส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในทั้งภาคส่วนพืช ประมง และปศุสัตว์ (ระบบการผลิตที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก ลด carbon foot print การปรับปรุงฉลากให้ความโปร่งใสแก่ผู้บริโภค) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรปซึ่งมีกำลังซื้อสูงในอันดับต้นของโลกไว้ โดยต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตแบบเดิม (traditional) ไปสู่แนวทางการผลิตแบบใหม่ที่ยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการรักษาตลาดไว้แล้ว จะยังเป็นแนวทางช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มปริมาณการส่งออกได้ในอนาคต