free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสมะเขือเทศ (ToBRFV) ที่เข้าไปยังสหภาพยุโรป และแพร่ระบาดภายในสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปปรับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสมะเขือเทศ (ToBRFV) ที่เข้าไปยังสหภาพยุโรป และแพร่ระบาดภายในสหภาพยุโรป

    คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2023/1032 ว่าด้วย การปรับ Implementing Regulation (EU) 2020/1191 เกี่ยวกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสมะเขือเทศ (ToBRFV) ที่เข้าไปยังสหภาพยุโรป และแพร่ระบาดภายในสหภาพยุโรป ใน EU Official Journal L 139/34 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. วัตถุประสงค์ : เพื่อจัดทำมาตรการในการป้องกันเชื้อไวรัสมะเขือเทศ (Tomato Brown Rugose Fruit Virus :ToBRFV) ที่เข้าไปยังสหภาพยุโรป และแพร่ระบาดภายในสหภาพยุโรป
  2. กำหนดคำนิยามที่เกี่ยวข้อง ดังนี้:  

1)    ศัตรูพืชที่ระบุ (specified pest) หมายถึง เชื้อไวรัสมะเขือเทศ (Tomato Brown Rugose Fruit Virus: ToBRFV)

2) พืชที่ระบุ (specified plants) หมายถึง พืชของมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum L.)  มะเขือเทศพันธุ์ลูกผสม (hybrids) และพริก (Capsicum spp.)  นอกเหนือไปจากเมล็ดพืชเฉพาะและผลเฉพาะ

3)   พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุ (specified plants for planting) หมายถึง พืชเพื่อการเพาะปลูกของมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum L.)  มะเขือเทศพันธุ์ลูกผสม (hybrids) และพริก (Capsicum spp.)  นอกเหนือไปจากเมล็ดพืชเฉพาะ

4) เมล็ดพืชที่ระบุ (specified plants) หมายถึง เมล็ดพืชของมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum L.)  มะเขือเทศพันธุ์ลูกผสม (hybrids) และพริก (Capsicum spp.)  

5)  ผลที่ระบุ (specified fruits) หมายถึง ผลของมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum L.)  มะเขือเทศพันธุ์ลูกผสม (hybrids) และพริก (Capsicum spp.)  »

   3. ข้อห้ามเกี่ยวกับศัตรูพืชที่ระบุ: ห้ามการนำเข้า เคลื่อนย้าย กัก ขยายพันธุ์ หรือแพร่กระจายเชื้อไวรัสมะเขือเทศ (Tomato Brown Rugose Fruit Virus :ToBRFV) ภายในสหภาพยุโรป

    4. มาตรการในกรณีที่สงสัยหรือรับรู้ถึงการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ:

        1) บุคคลใดก็ตามที่อยู่ในสหภาพยุโรปที่สงสัยหรือรับรู้ถึงการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ จะต้องแจ้งให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักทราบในทันทีและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับการปรากฏหรือการปรากฏที่ต้องสงสัยของศัตรูพืชดังกล่าว

       2) เมื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักได้รับข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะทำการบันทึกข้อมูลและปรับใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อยืนยันหรือพิสูจน์การมีอยู่หรือไม่มีอยู่จริงของศัตรูพืชที่ระบุนั้น

        3) บุคคลใดที่มีพืชที่ระบุ เมล็ดพืชที่ระบุ หรือผลที่ระบุ ที่อาจติดโรคจากศัตรูพืชที่ระบุที่มีอยู่ภายใต้การควบคุม จะต้องได้รับแจ้งให้ทราบทันทีเกี่ยวกับ:

             – การปรากฏหรือการปรากฏที่ต้องสงสัยของศัตรูพืชที่ระบุ และ

             – ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับศัตรูพืชที่ระบุ และมาตรการที่ต้องดำเนินการ

                                                                                                              

    5. การสำรวจเกี่ยวกับการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ:

        1) หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักต้องทำการสำรวจประจำปีเพื่อหาศัตรูพืชที่ระบุในอาณาเขตของตน

        2) การสำรวจต้องประกอบด้วย

            – การสุ่มตัวอย่างและทดสอบตามที่ระบุในภาคผนนวก (Annex) และ

            – ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินจากการนำเข้าและการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุในประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง และหลักการทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุ

        3) ภายในวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบถึงผลการสำรวจที่ได้ดำเนินการไปในปีก่อนหน้า

    6. มาตรการในกรณีที่การปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุได้รับการยืนยัน:

  1. ในกรณีที่ปรากฏศัตรูพืชที่ระบุ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในอาณาเขตของประเทศสมาชิก หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะต้องปรับใช้มาตรการที่เหมาะสมในการกำจัดศัตรูพืชที่ระบุดังกล่าว ตามมาตรา 17 Regulation (EU) 2016/2031

             นอกจากนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักจะต้องดำเนินมาตรการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2) และ 3) ของมาตรานี้ เว้นแต่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 18(4) Regulation (EU) 2016/2031 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศัตรูพืชที่ระบุด้วยแล้ว

             มาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 2) และ 3) จะไม่ปรับใช้กับพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทราบกันดีว่า มีความทนทาน (resistant) ต่อศัตรูพืชที่ระบุ ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งบัญชีรายชื่อพันธุ์พืชที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุที่เป็นปัจจุบันให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบอย่างสม่ำเสมอ

  • หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักต้องกำหนดพื้นที่แบ่งเขต (demarcated area) ในทันที ดังต่อไปนี้

– ในกรณีที่มีศัตรูพืชที่ระบุอยู่ในสถานที่ผลิตที่มีการป้องกันทางกายภาพ กำหนดให้พื้นที่แบ่งเขตต้องครอบคลุมอย่างน้อยสถานที่ผลิตที่มีการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุ

                – ในกรณีที่มีศัตรูพืชที่ระบุในสถานที่ผลิต นอกเหนือจากที่อ้างถึงข้างต้น (-) พื้นที่แบ่งเขตจะประกอบด้วย

เขตติดเชื้อ (infested zone) รวมถึงอย่างน้อยสถานที่ผลิตที่มีการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุ

  • เขตกันชน (buffer zone) อย่างน้อย 30 เมตรรอบเขตติดเชื้อ
  • ในพื้นที่แบ่งเขต หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักหรือผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การควบคุมอย่างเป็นทางการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักจะต้อง
  • สำหรับสถานที่ผลิตเพื่อการผลิตพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุหรือเพื่อการผลิตเมล็ดพืชที่ระบุ
  • กำจัดและทำลายล็อตพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุที่ติดเชื้อทั้งหมดทันที  และวัสดุเพาะเลี้ยง (growing medium) และเมล็ดพืชที่ระบุที่มาจากล็อตดังกล่าวด้วยหากมี การกำจัดและการทำลายจะต้องดำเนินการในลักษณะที่ไม่มีความเสี่ยงของการแพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุ
  • ปรับใช้มาตรการสุขอนามัยเฉพาะกับบุคลากร โครงสร้างสถานที่ผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ และวิธีการขนส่ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุไปยังพืชล็อตอื่น ๆ ที่อยู่ในสถานที่ผลิต และพืชผลต่อเนื่องของพืชที่ระบุหรือไปยังสถานที่ผลิตอื่นๆ
  •  ทําลายหรือบํารุงรักษาวัสดุเพาะเลี้ยง (growing medium) อย่างน้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลปลูก จนพบว่าไม่มีความเสี่ยงที่สามารถระบุได้ของการแพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุ                                                                             
  • สำหรับสถานที่ผลิตเพื่อการผลิตผลที่ระบุ
  • กำจัดหรือทำลายพืชที่ระบุที่ติดเชื้อทั้งหมดในสถานที่ผลิต อย่างน้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลปลูก การกำจัดจะต้องดำเนินการในลักษณะที่ไม่มีความเสี่ยงของการแพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุ
  • ปรับใช้มาตรการสุขอนามัยเฉพาะกับบุคลากร โครงสร้างสถานที่ผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ วิธีการบรรจุและขนส่งของผล (fruits) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชที่ระบุไปยังพืชผลต่อเนื่องของพืชที่ระบุหรือไปยังสถานที่ผลิตอื่นๆ
  • ทําลายหรือบํารุงรักษาวัสดุเพาะเลี้ยง (growing medium) อย่างน้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลปลูก จนพบว่าไม่มีความเสี่ยงที่สามารถระบุได้ของการแพร่กระจายศัตรูพืชที่ระบุ

    7. การเคลื่อนย้ายพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุในสหภาพยุโรป:

        1) พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุสามารถเคลื่อนย้ายในสหภาพยุโรปได้ หากพืชดังกล่าวมีหนังสือเดินทางพืช (plant passport) ประกอบ ซึ่งออกให้โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหลังจากที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

             – พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุมาจากเมล็ดพืชที่ระบุที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ปรากฏในมาตรา 8 และ 10

             – พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุเติบโตในสถานที่ผลิตที่ไม่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ บนพื้นฐานของการตรวจสอบอย่างเป็นทางการที่กระทำในเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ

             – พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุแสดงอาการของศัตรูพืชที่ระบุได้รับการสุ่มตัวอย่าง และทดสอบโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก และการทดสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพืชดังกล่าวปราศจากศัตรูพืชที่ระบุ

             – ล๊อตพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุได้ถูกจัดเก็บแยกออกจากล๊อตพืชที่ระบุอื่นๆ โดยปรับใช้มาตรการสุขอนามัยที่เหมาะสม

             การสุ่มตัวอย่างเพื่อทดสอบตามระบุข้างต้น ต้องกระทำตามที่ระบุไว้ในภาคผนวก (Annex)

        2) เงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 1) สำหรับการออกหนังสือเดินทางพืชไม่ปรับใช้กับพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุที่เป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุ ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งบัญชีรายชื่อที่เป็นปัจจุบันของพันธุ์พืชที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบอย่างสม่ำเสมอ

    8. การเคลื่อนย้ายเมล็ดพืชที่ระบุในสหภาพยุโรป:

        1) เมล็ดพืชที่ระบุสามารถเคลื่อนย้ายในสหภาพยุโรปได้ หากเมล็ดพืชดังกล่าวมีหนังสือเดินทางพืช (plant passport) ประกอบ ซึ่งออกให้โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหลังจากที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

             – พืชต้นแม่ (mother plants) ของเมล็ดพืชที่ระบุ ถูกผลิตในสถานที่ผลิตที่ไม่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ บนพื้นฐานของการตรวจสอบอย่างเป็นทางการที่กระทำในเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ

             – ในกรณีเมล็ดพืชที่ระบุมาจากพืชต้นแม่ จำนวนกว่า 30 ต้น ก่อนการแปรรูปเมล็ดพืชที่ระบุต้องผ่านการสุ่มตัวอย่างและทดสอบตามระบุในภาคผนวกเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก หรือโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ว่าปราศจากศัตรูพืชที่ระบุ หากมีการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุปนเปื้อนในเมล็ดพืชที่ระบุนั้นๆ ล๊อตเมล็ดพืชดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายในสหภาพยุโรป

             – ในกรณีเมล็ดพืชที่ระบุมาจากพืชต้นแม่ จำนวนน้อยกว่า หรือเท่ากับ 30 ต้น เมล็ดพืชที่ระบุหรือพืชต้นแม่แต่ละต้นจากเมล็ดพืชที่ระบุ  ต้องผ่านการสุ่มตัวอย่างและทดสอบตามระบุในภาคผนวก  เพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก หรือโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ว่าปราศจากศัตรูพืชที่ระบุ หากมีการตรวจพบศัตรูพืชที่ระบุปนเปื้อนในเมล็ดพืชที่ระบุนั้นๆ ล๊อตเมล็ดพืชที่มาจากพืชต้นแม่ดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายในสหภาพยุโรป

             –  ในกรณีที่สงสัยว่ามีศัตรูพืชที่ระบุ ให้ทำการสุ่มตัวอย่างและทดสอบโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ตามมาตรา 87(3) ข้อ (c) Regulation (EU) 2016/2031

             – แหล่งที่มาของเมล็ดพืชที่ระบุทุกล๊อตต้องได้รับการจดบันทึกและจัดทำเป็นเอกสาร

        2) การละเว้นการปฏิบัติตามข้อ 1) ข้อ (a) (b) (c) และ (d)  เมล็ดพืชที่ระบุที่ได้รับการเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และก่อนการเคลื่อนย้ายครั้งแรกในสหภาพยุโรป ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก หรือโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Implementing Regulation (EU) 2020/1191 ให้สามารถเคลื่อนย้ายในสหภาพยุโรปได้ โดยมีหนังสือเดินทางพืชประกอบระบุว่าได้ปฏิบัติตามข้อหนดดังกล่าว

        3) ล๊อตเมล็ดพืชที่ระบุที่มีการเคลื่อนย้ายครั้งแรกในสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 และผ่านการทดสอบก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยวิธี ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent ASSAY) ต้องได้รับการทดสอบอีกครั้งด้วยวิธีทดสอบที่ไม่ใช่วิธี ELISA ตามระบุในข้อ 3 ของภาคผนวก

        4) การสุ่มตัวอย่างและการทดสอบ ต้องกระทำตามที่ระบุในภาคผนวก

        5) เงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 1) และ 2) สำหรับการออกหนังสือเดินทางพืชไม่ปรับใช้กับเมล็ดพืชที่ระบุที่เป็นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุ ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งบัญชีรายชื่อที่เป็นปัจจุบันของพันธุ์พืชที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบอย่างสม่ำเสมอ

    9. การนำเข้าพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุไปยังสหภาพยุโรป:

        1) พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุ นอกเหนือพืชเพื่อการเพาะปลูกจากสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุที่มาจากประเทศที่สามจะสามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ หากพืชเพื่อการเพาะปลูกดังกล่าวมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช(phytosanitary certificate) ประกอบการนำเข้า โดยภายใต้หมวด (heading) การสำแดงเพิ่มเติม (Additional declaration) จะต้องระบุข้อมูล ดังนี้

             – การระบุอย่างเป็นทางการ (official statement) ว่า พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุมาจากเมล็ดพืชที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในมาตรา 10 (ว่าด้วย การนำเข้าเมล็ดพืชที่ระบุไปยังสหภาพยุโรป)

             – การระบุอย่างเป็นทางการ (official statement) ว่า พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุถูกผลิตมาจากสถานที่ผลิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและควบคุมโดยองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (NPPO) ของประเทศต้นกำเนิด และเป็นที่ทราบว่าปลอดจากศัตรูพืชที่ระบุบนพื้นฐานของการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ การสุ่มตัวอย่างและการทดสอบกระทำในเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ

             – ชื่อสถานที่ผลิตที่ขึ้นทะเบียน

        2) พืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุที่มาจากประเทศที่สามจะสามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ หากพืชเพื่อการเพาะปลูกดังกล่าวมีหนังสือรับรองรองสุขอนามัยพืช(phytosanitary certificate) ประกอบการนำเข้า โดยภายใต้หมวด (heading) การสำแดงเพิ่มเติม (Additional declaration) จะต้องยืนยันความทนทาน (resistance) ต่อศัตรูพืชดังกล่าว  

    10. การนำเข้าเมล็ดพืชที่ระบุไปยังสหภาพยุโรป:

          1) เมล็ดพืชที่ระบุจากประเทศที่สาม นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุจะสามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ หากเมล็ดพืชดังกล่าวมีหนังสือรับรองรองสุขอนามัยพืช (phytosanitary certificate)  ประกอบการนำเข้า โดยภายใต้หมวด (heading) การสำแดงเพิ่มเติม (Additional declaration) จะต้องระบุข้อมูล ดังนี้

             – การระบุอย่างเป็นทางการ (official statement) ว่า เมล็ดพืชที่ระบุได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

                 (ก) พืชต้นแม่ (mother plants) ของเมล็ดพืชที่ระบุ ถูกผลิตในสถานที่ผลิตที่ไม่มีการปรากฏของศัตรูพืชที่ระบุ บนพื้นฐานของการตรวจสอบอย่างเป็นทางการที่กระทำในเวลาที่เหมาะสมเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ

                (ข) ในกรณีเมล็ดพืชที่ระบุมาจากพืชต้นแม่ จำนวนกว่า 30 ต้น ก่อนการแปรรูปเมล็ดพืชที่ระบุต้องผ่านการสุ่มตัวอย่างและทดสอบอย่างเป็นทางการตามระบุในภาคผนวกเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ โดยต้องไม่มีการตรวพบศัตรูพืชที่ระบุ

                (ค) ในกรณีเมล็ดพืชที่ระบุมาจากพืชต้นแม่ จำนวนน้อยกว่า หรือเท่ากับ 30 ต้น เมล็ดพืชที่ระบุหรือพืชต้นแม่แต่ละต้นของเมล็ดพืชที่ระบุนั้นต้องผ่านการสุ่มตัวอย่างและทดสอบตามระบุในภาคผนวกเพื่อตรวจหาศัตรูพืชที่ระบุ โดยต้องไม่มีการตรวพบศัตรูพืชที่ระบุ

             – ข้อมูลรับรองการตรวจสอบย้อนกลับของสถานที่ผลิตพืชต้นแม่

        2) เมล็ดพืชที่ระบุ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุที่มาจากประเทศที่สามจะสามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ หากเมล็ดพืชดังกล่าวมีหนังสือรับรองรองสุขอนามัยพืช(phytosanitary certificate) ประกอบการนำเข้า โดยภายใต้หมวด (heading) การสำแดงเพิ่มเติม (Additional declaration) จะต้องยืนยันความทนทาน (resistance) ต่อศัตรูพืชดังกล่าว 

        3) การละเว้นการปฏิบัติตามข้อ 1) ข้อ (a) เมล็ดพืชที่ระบุที่ได้รับการเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และก่อนการนำเข้าครั้งแรกไปยังสหภาพยุโรป ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Implementing Regulation (EU) 2020/1191 ให้สามารถนำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ โดยมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช(phytosanitary certificate) ประกอบการนำเข้า โดยภายใต้หมวด (heading) การสำแดงเพิ่มเติม (Additional declaration) จะต้องระบุว่า « เมล็ดพืชดังกล่าวได้รับการเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Implementing Regulation (EU) 2020/1191 »

    11. การตรวจสอบอย่างเป็นทางการ (official checks) ในการนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป

          1) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเมล็ดพืชที่ระบุและพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุ จะต้องถูกสุ่มตัวอย่างและทดสอบโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ณ ด่านตรวจสอบเมื่อสินค้าเดินทางมาถึงสหภาพยุโรปครั้งแรกหรือ ณ จุดควบคุมในสหภาพยุโรป ตามที่ระบุในมาตรา 2 Delegated Regulation (EU) 2019/2123 ตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของกฎระเบียบฉบับนี้

          2) สำหรับเมล็ดพืชที่ระบุและพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุที่มาจากประเทศอิสราเอล กำหนดให้ถูกสุ่มตัวอย่างและทดสอบที่ร้อยละ 50 และสำหรับเมล็ดพืชที่ระบุและพืชเพื่อการเพาะปลูกที่ระบุที่มาจากประเทศจีน ให้ถูกสุ่มตัวอย่างและทดสอบที่ร้อยละ 100

    12. การปรับแก้ Implementing Regulation (EU) 2020/1191:

 ปรับแก้มาตรา 12 (ว่าด้วย ระยะเวลาที่ปรับใช้) ให้เปลี่ยนจากจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566

เป็นจนถึง  « วันที่ 31 สิงหาคม 2566 »

        13. ภาคผนวก (Annex) ที่เกี่ยวข้อง:

     กำหนดรูปแบบการสุ่มตัวอย่างและการทดสอบของเมล็ดพืชที่ระบุ พืชที่ระบุ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ทนทาน (resistant) ต่อศัตรูพืชที่ระบุ และวิธีการตรวจสอบเพื่อตรวจหาและระบุศัตรูพืชที่ระบุในพืชที่ระบุ และผลที่ระบุ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ทนทานต่อศัตรูพืชที่ระบุ                                                                         

        14. กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566) และให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าวสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ดังนี้

    https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32023R1032