free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปปรับแก้กฎระเบียบด้านการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม

สหภาพยุโรปปรับแก้กฎระเบียบด้านการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม

  • คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/2246 ว่าด้วย การปรับแก้ไข Commission Implementing Regulation (EU) 2019/1793 ในการเพิ่มการตรวจสอบควบคุมชั่วคราว และการปรับใช้มาตรการฉุกเฉินกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ภายใต้ Regulation (EU) 2017/625 และ Regulation (EC) No 178/2002 ใน EU Official Journal L 453/5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

         1) การแก้ไขภาคผนวก Implmenting Regulation (EU) 2019/1793

             1.1  แก้ไขภาคผนวก I, และ II ตามกฎระเบียบฉบับนี้ โดยสรุปดังนี้

                   (1) ภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว)

                          ก) กำหนดให้ถั่วลิสง และผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง (groundnuts and products produced from groundnuts) จากอาร์เจนตินา จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายมาอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหาน้อยลง จึงอนุโลมให้อาร์เจนตินาไม่ต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก (เพื่อรับรองว่าถั่วปลอดจากอัลฟลาทอกซินในปริมาณ MLs ที่กำหนดและใช้ประกอบหนังสือรับรองการนำเข้า) โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซิน
ที่ระดับร้อยละ 5 ในถั่วลิสง จากอาร์เจนตินา

                       ข) กำหนดให้เฮเซลนัต และผลิตภัณฑ์จากเฮเซลนัต (hazelnuts and products from hazelnuts) จากอาเซอร์ไบจาน จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก II  (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) ให้ย้ายมาอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหาน้อยลง จึงอนุโลมให้อาเซอร์ไบจานไม่ต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก (เพื่อรับรองว่าเฮเซลนัตปลอดจากอัลฟลาทอกซินในปริมาณ MLs ที่กำหนด และใช้ประกอบหนังสือรับรองการนำเข้า) โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินที่ระดับร้อยละ 20 ในเฮเซลนัต จากอาเซอร์ไบจาน

                       ค) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลา (Salmonella Braenderup) ที่ระดับร้อยละ 10  ในเมล่อน (Galia melons) จากฮอนดูรัส

                       ง) ปรับลดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลา เดิมที่ระดับร้อยละ 20 ในพริกหวาน (sweet peppers) จากจีน ให้อยู่ที่ระดับร้อยละ 10 แทน

                       จ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในมะรุม (drumsticks) จากอินเดีย

                       ฉ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในพริก สกุล Capsicum (นอกเหนือจากพริกหวาน) จากอินเดีย                                                                                                               

                       ช) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซิน และสารโอคราทอกซิน A ตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในข้าว จากอินเดียและปากีสถาน

                       ซ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในบัวบก (gotukola) และผักเป็ดไทย (mukunuwenna) จากศรีลังกา

                       ฌ) ยกเลิกความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารอัลฟลาทอกซินในเฮเซลนัต (hazelnuts) และผลิตภัณฑ์จากเฮเซลนัต จากตุรกี

                       ญ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในเกรฟฟรุ๊ต (grapefruits) จากตุรกี

                       ฎ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารไพร์โรลิซิดีน แอลคาลอยด์ (pyrrolizidine alkaloids) ตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในเมล็ดยี่หร่า (cumin seeds) และออริกาโนแห้ง (dried oregano) จากตุรกี

                       ฏ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ตกค้างที่ระดับร้อยละ 10 ในโลคัสต์บีน (locust beans) รวมถึงยางและสารสกัดที่ได้รับการดัดแปลงหรือไม่ได้รับการดัดแปลงจากโลคัสต์บีนหรือเมล็ดโลคัสต์บีนจากโมร็อกโก เครื่องเทศชนิดเหลว (spice paste) จากเม็กซิโก และพริก สกุล Capsicum (นอกเหนือจากพริกหวาน) จากยูกันดา ที่ระดับร้อยละ 10 

                        ฐ) สำหรับไทย คงมาตรการเดิม คือ กำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในพริก (Capsicum) ที่ไม่ใช่พริกหวาน (คือ พริกสด พริกแช่เย็น และพริกแช่แข็ง) จากไทย

                     (2) ภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ)

                         ก) กำหนดให้พริกไทยดำ (black pepper) จากบราซิล จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้บราซิลต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก (เพื่อรับรองว่า ปลอดจากเชื้อซัลโมแนลลาในปริมาณสุ่มตรวจที่ระดับ 25 กรัม และใช้ประกอบหนังสือรับรองการนำเข้า) โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจเชื้อซัลโมแนลลาที่ระดับร้อยละ 50  ในพริกไทยดำจากบราซิล

                       ข) กำหนดให้มะเขือ (aubergine) จากสาธารณรัฐโดมินิกัน จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้สาธารณรัฐโดมินิกันต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก (เพื่อรับรองว่า ปลอดจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปริมาณ MLs ที่กำหนด และใช้ประกอบ หนังสือรับรองการนำเข้า) โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 50  ในมะเขือจากสาธารณรัฐโดมินิกัน

                       ค) กำหนดให้พริก สกุล Capsicum และถั่วฝักยาว (yardlong beans) จากสาธารณรัฐโดมินิกัน จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้สาธารณรัฐโดมินิกันต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า ปลอดจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปริมาณ MLs ที่กำหนด เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 50  ในพริกและถั่วฝักยาวจากสาธารณรัฐโดมินิกัน

                       ง) กำหนดให้ส้มแมนดาริน (รวมถึงส้มเขียวหวานและส้มซัทสึมะ) ส้มคลีเมนไทน์ ส้มวิลคิงค์ และผลไม้จำพวกส้มและมะนาวพันธุ์ผสมคล้ายคลึง และส้ม จากตุรกี จากเดิมถูกบรรจุอยู่ในภาคผนวก I (บัญชีตรวจสอบควบคุมชั่วคราว) ให้ย้ายไปบรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ตุรกีต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก (เพื่อรับรองว่าปลอดจากสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปริมาณ MLs ที่กำหนด และใช้ประกอบหนังสือรับรองการนำเข้า) โดยกำหนด
ความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20  ในส้มแมนดารินและส้มจากตุรกี

                       จ) เพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับร้อยละ 20 ในแก้วมังกร (dragon fruit) จากเวียดนาม

                       ฉ) ยกเลิกความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ หากให้คงการสุ่มตรวจสาร
เอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ตกค้างในเมล็ดงา (Sesamum seeds) ที่ระดับร้อยละ 50 จากอินเดีย

                       ช) กำหนดให้แซนแทนกัม (xanthan gum) จากจีน โลคัสต์บีน (locust beans) รวมถึงยางและสารสกัดจากโลคัสต์บีน กัวร์กัม (guar gum) เครื่องเทศต่างๆ (several spices) แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) และอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของพืชจากอินเดีย  อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของพืช และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลีใต้ โลคัสต์บีน (locust beans) รวมถึงยางและสารสกัดจากโลคัสต์บีนจากมาเลเซียและตุรกี และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเวียดนาม  บรรจุอยู่ในภาคผนวก II (บัญชีเงื่อนไขพิเศษ) เนื่องจากผลการสุ่มตรวจพบปัญหามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ประเทศดังกล่าวข้างต้นต้องทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ก่อนการส่งออก เพื่อรับรองว่า ปลอดจากสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ตกค้างในปริมาณ MLs ที่กำหนด เพื่อใช้ประกอบไปกับหนังสือรับรองการนำเข้า โดยกำหนดความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสารเอทิลีนออกไซด์ตกค้างที่ระดับร้อยละ 20  ในสินค้าตามที่ระบุข้างต้น

                        (3) กำหนดให้เพิ่มสินค้าถั่วลิสงใช้ทาขนมปัง (groundnuts paste) และเพิ่มรหัส CN ให้อยู่ในหมวดสินค้าถั่วลิสง เพื่อให้ครอบคลุมการสุ่มตรวจหาการปนเปื้อนของสารอัลฟลาทอกซิน ในภาคผนวก I สำหรับอาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล จีน มาดากัสการ์ เซเนกัล และสหรัฐอเมริกา และในภาคผนวก II สำหรับอียิปต์ กานา แกมเบีย อินเดีย และซูดาน

                 2)  ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน  

                 กฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 20 วัน หลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564) ยกเว้นมาตรการที่มีต่อพริกไทยดำ (black pepper) จากบราซิล มะเขือ (aubergine) พริกหวาน (sweet peppers) พริก สกุล Capsicum (ที่ไม่ใช่พริกหวาน) และถั่วฝักยาว (yardlong beans)  จากสาธารณรัฐโดมินิกัน ส้มแมนดาริน (รวมถึงส้มเขียวหวานและส้มซัทสึมะ) ส้มคลีเมนไทน์ ส้มวิลคิงค์ และผลไม้จำพวกส้มและมะนาวพันธุ์ผสมคล้ายคลึง และส้ม จากตุรกี ให้ปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎระเบียบดังกล่าว สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ดังนี้

https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32021R2246&from=EN