free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeRegulationสหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างยั่งยืน

สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างยั่งยืน

Featured Image by emersonbegnini under Pixabay license

ด้วยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 สื่อออนไลน์ IHS Markit ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง “สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างยั่งยืน” สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ต่อรัฐสภายุโรปและคณะมนตรียุโรปในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบาย European Green Deal เพี่อนำสหภาพยุโรปไปสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2593 และยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่มีเป้าหมายให้ภาคเกษตรปรับรูปแบบการผลิตให้เป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การทำฟาร์มคาร์บอน การดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันรวมถึงการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573
  2. ร่างกฎหมายฉบับใหม่ จากเดิมคณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดที่จะนำเสนอในช่วงเดือนมีนาคม 2565 หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้มีความล่าช้าในการเสนอร่างกฎหมายในการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ทั่วสหภาพยุโรป ร่างฉบับใหม่นี้เป็นการปรับแก้กฎหมายการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างยั่งยืนฉบับเดิม (Directive 2009/128) โดยร่างฯ ฉบับใหม่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจัดทำแผนลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นรายประเทศที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความคืบหน้าในการดำเนินการของแต่ละประเทศสมาชิก โดยต้องส่งมอบรายงานประจำปีให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา
  3. ข้อเปลี่ยนแปลงใหม่ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะรวมถึงการห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืชในระยะห่างไม่ต่ำกว่า 3 เมตรจากพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่ดี (Good Agricultural and Environmental Practices) ของนโยบายเกษตรร่วม (Common Agricultural Policy) ฉบับปี 2566-2570 การปรับใช้ระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งประเทศสมาชิกจะได้รับเงินสนับสนุนในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกที่ปรับใช้กฎหมาย เพื่อรับมือกับราคาอาหารที่จะสูงเพิ่มขึ้นในการต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่นี้
  4. ท่าทีของคณะกรรมาธิการยุโรป: นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาง Stella Kyriakides กรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหาร ต่างให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว ว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชากรในสหภาพยุโรปได้ดียิ่งขึ้น ปัญหาโลกร้อนและการถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร   ส่งผลให้สหภาพยุโรปจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องสารกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจัง สหภาพยุโรปจะเร่งหาสารทดแทน/สารทางเลือกที่มีความปลอดภัยและยั่งยืน ผ่านการวิจัย/การคิดค้นใหม่ อาทิ สารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพและสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 สหภาพยุโรปได้อนุญาตการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk) แล้วถึง 20 ชนิด                                                                                         
  5. ท่าทีของสมาคมเกษตรกรสหภาพยุโรป-สหกรณ์เกษตรสหภาพยุโรป (European Farmers & European Agri-Cooperatives: COPA-COGECA) และสมาคมเกษตรกรวัยเยาว์สหภาพยุโรป (EU’s Association of young farmers CEJA): ยังคงไม่ยอมรับต่อร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว โดยเกรงว่า การลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชจะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณลดลง ตลอดจนภาวะอากาศที่แปรปรวนจะส่งผลให้มีแมลงศัตรูใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่จะยังต้องพึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืชอยู่
  6. ท่าทีของสมาคมผลิตภัณฑ์อารักพืชสหภาพยุโรป (CropLife Europe): ระบุว่า การบรรลุเป้าหมายลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้นั้น จะต้องมีสารทางเลือกที่ใช้งานได้และมีประสิทธิภาพที่ดีให้แก่เกษตรกร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องไม่ก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอาหารที่มีสุขภาพและกลุ่มผู้ผลิตอาหารที่มีความยั่งยืน
  7. ท่าทีของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ Birdlife Europe : ชื่นชมต่อร่างฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ดี พบว่า ร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ ยังคงมีข้อละเว้นและช่องโหว่ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไข รวมถึงการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อติดตามผลการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างเป็นรูปธรรม

                    

ประเด็นการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ Farm to Fork อันจะส่งผลให้ภาคธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศที่สามต้องเตรียมการเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืนและปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการต่าง ๆ อาทิ ลดการพึ่งพาสารปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะสารกลุ่ม PBT (Persistent, Bio-accumulative and Toxic) สารกลุ่ม vPvB (veryPersistent and very Bio-accumulative) สารกลุ่ม POP (Persistent Organic Pollutants) และสารกลุ่ม neonicotinoids (สารกลุ่มที่ก่อให้เกิดการลดปริมาณแมลงผสมเกสร)  การเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพหรือที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สารเคมี ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการส่งออก และเกษตรกรของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการการค้า-การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง