free page hit counter

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

Office of Agricultural Affairs | Royal Thai Embassy, Brussels
HomeTrending Newsสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก

สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก

Featured Image by Nighthawk Shoots on Unsplash

ด้วย สื่อออนไลน์ IHS Markit ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำของสหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก (World Avian influenza) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 พบว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง (Highly Pathogenic Avian Influenza : HPAI) ทั่วโลกมีอัตราสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยพบจำนวนการระบาดของ HPAI ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 2,208 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดหากเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของ 6 เดือนแรกในปี 2549 ที่เคยมีการระบาดทั้งปีรวม 2,362 ราย โดยในปี 2565 พบการแพร่ระบาดใน 35 ประเทศทั่วโลก พบมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฮังการี ไนจีเรีย แคนาดา ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ เนปาล สเปน และเกาหลีใต้
  • มาตรการการรับมือกับสถานการณ์ของประเทศต่างๆ
    • เม็กซิโก: รัฐบาลเม็กซิโกและภาคอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกันปรับปรุงการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และพัฒนาระบบการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงทีในหน่วยการผลิตปศุสัตว์ (Livestock Production Units : LPU) มากกว่า 600 แห่ง เพื่อกำจัดทั้งเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงต่ำ H5N2 และเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง H7N3 ทั้งนี้ ในปี 2564 รัฐบาลเม็กซิโกได้จัดสรรเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในหน่วยการผลิตสัตว์ปีก 648 แห่ง ครอบคลุมสัตว์ปีกกว่า 133 ล้านตัว ที่มีมูลค่าทางการค้ากว่า 46 พันล้านเปโซ (หรือประมาณ 227 ล้านเหรียญสหรัฐ)
    • สหรัฐอเมริกา: สหรัฐอเมริกาอนุมัติงบประมาณ 400 ล้านดอลลาร์จาก Commodity Credit Corporation ให้แก่ APHIS (Animal and Plant Health Inspection Service) โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 อนุมัติการใช้เงินประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ และอนุมัติเพิ่มเติมอีก 263 ล้านเหรียญในเดือนเมษายน 2565 เพื่อชดเชยค่าเสียหาย การวินิจฉัยโรค การทำกิจกรรมภาคสนาม และค่าใช้จ่ายในการเผชิญเหตุฉุกเฉินอื่นๆ
    • กานา: กานาใช้งบประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศ รัฐบาลกานายังได้อนุมัติให้มีการรับสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ 1,100 คน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของคณะกรรมการบริการด้านสัตวแพทย์ (Veterinary Services Directorate : VSD) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสัตว์ผ่านผู้ปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์ (ปศุสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยง)
    • ฟิลิปปินส์: กรมการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องให้รัฐบาลอนุมัติเงิน 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยได้รับการบรรจุอยู่ในแผนงบประมาณแห่งชาติ ประจำปี 2566 เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง H5N1
    • สหภาพยุโรป: คณะมนตรียุโรปได้รับรองกลยุทธ์การพัฒนาวัคซีน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเสริมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนสายพันธุ์รุนแรงสูง (HPAI) เนื่องจากมีความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ ส่งผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก HPAI แบบข้ามพรมแดน ทั้งนี้ ฝรั่งเศสตั้งเป้าที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดใหม่ ซึ่งได้มีการทดลองวัคซีนตัวอย่างด้วยแล้ว 2 ราย

จากข้อมูลของ S&P Global Animal Health Economics (AHE) ระบุว่า ประชากรสัตว์ปีกทั่วโลกมีแนวโน้มจะลดลงจาก 27.12 พันล้านตัวในปี 2564 เป็น 26.74 พันล้านตัวในปี 2565 ซึ่งลดลง ต่อปีร้อยละ 1.4 อย่างไรก็ตาม หากวัคซีนมีประสิทธิภาพและมาตรการป้องกันที่ดีขึ้น ประชากรสัตว์ปีกทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว AHE คาดการณ์ว่า ประชากรสัตว์ปีกทั่วโลกจะสูงถึง 28.6 พันล้านตัวภายในปี 2568  โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีที่อัตราร้อยละ 2.3% ตั้งแต่ปี 2565 

จากสถิติของ DG SANTE ในปี 2565 พบการระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์รุนแรงสูง (HPAI)  ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จำนวน 15 ประเทศ โดยพบการระบาดมากสุดในประเทศฝรั่งเศส ฮังการี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป จึงอาจเป็นโอกาสทางการตลาดต่อการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกของไทยในตลาดสหภาพยุโรปในปี 2565